หลังจากที่รอการรถไฟ ทำแผนการส่งมอบพื้นที่โครงการไฮสปีดมาอย่างยาวนาน เพราะความกังวลว่า รฟท. จะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ และหากลงนามไปก่อนเท่ากับดอกเบี้ยจะเริ่มเดิน ทำให้รอวันลงนามกันมายาวนาน จนกลุ่มซีพีและพันธมิตรจากญี่ปุ่นและจีน เร่ง รฟท. กำหนดวันลงนามสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ภายใน 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ตกลงกันได้ หรือวันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบ

นอกจากนี้ ชื่อคู่สัญญาในการลงนามในสัญญา ก็น่าเห็นใจการรถไฟ เพราะหาก รฟท. เป็นผู้ลงนาม ฐานะทางการเงินก็ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องรับรองทางการเงินให้กับ รฟท. ว่าจะจ่ายเงินได้ตามสัญญา เพราะหากดูฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน ณ 30 ก.ย. 2560 แสดงรายได้ 17,470 ล้านบาท รายจ่าย 35,369 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 17,899 ล้านบาท แต่ได้รับเงินชดเชยผลขาดทุนตามกฎหมาย 17,899 ล้านบาท เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 43 ถ้ารายได้จำนวนไม่พอสำหรับรายจ่าย และการรถไฟฯ ไม่สามารถหารายได้จากทางอื่น รัฐพึงจ่ายให้แก่การรถไฟฯ เท่าจำนวนที่ขาด ดังนั้นโครงการรถไฟไฮสปีด รัฐก็ต้องเข้ามาช่วยรับรองในการลงนาม มิเช่นนั้น การรถไฟจะถูกลอยแพเป็นหนี้ก้อนโต หากไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ หรือชำระเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในขณะที่ปีที่เริ่มจ่ายคือปีที่ 6 ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนั้นสถานการณ์การเมืองจะเป็นเช่นไร ดังนั้น คู่สัญญาลงนามจึงเป็นประเด็นที่การรถไฟจะต้องได้การรับรองจากกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องตกลงกันภายในให้ได้ เพื่อกำหนดวันลงนาม ซึ่งเอกชนก็รอความชัดเจน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า “หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบรายละเอียดตามที่ CPH เสนอ ก็จะนัดวันลงนามสัญญา เบื้องต้น CPH เสนอให้ลงนามสัญญาภายใน 3 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ตกลงกันได้ หรือวันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบ” ดังนั้น ต้องมาดูว่า รฟท. จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน กำหนดวันลงนามตามกำหนดเวลาได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน