เรื่องหนี้ครัวเรือนที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาหลายอย่าง การมีหนี้ครัวเรือนสูงจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 53.5% ของจีดีพี ขึ้นเป็น 78.6% ของจีดีพีของปี 2561 ซึ่งหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลี ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย มีหนี้มากขึ้น และหนี้ไม่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ

การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจากภาระหนี้สินจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ จากงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ลดเหลื่อมล้ำ หนุนเศรษฐกิจฐานราก จากเหนือจดชายแดนใต้ โดย “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิรากแก้ว” ร่วมมือกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ซึ่งได้แนะแนวทางจากผู้รู้ด้านต่างๆ เพื่อหาทางรอดให้กับองค์กรต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหา

แก้หนี้ ต้องเริ่มจากความรัก

องค์กรตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขในการทำงานของพนักงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการไม่มีหนี้ อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ก็มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และกรณีศึกษาจากโมเดลปลดหนี้สร้างสุขของเครือในงานดังกล่าวด้วย

โดย “ปริโสทัต ปุณณภุม” รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจปัญหาการก่อหนี้จากสิ่งที่ไม่จำเป็นของพนักงาน จึงได้จัดทำโครงการ “ปลดหนี้ สร้างสุข” มาตั้งแต่ปี 2558 ให้กับกลุ่มพนักงานฟาร์ม ซึ่งพบว่ามีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก คนงานของโรงงานและฟาร์มที่มีภาระหนี้บัตรเครดิตและ/หรือหนี้นอกระบบ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งพบว่าปัญหาภาระหนี้ดังกล่าวกระทบต่อความสุขในการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และยังมีผลไปถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวพนักงานและคนงานด้วย

“เครือซีพีเอฟมีสวัสดิการของบริษัทเพื่อช่วยเหลือพนักงานอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่โครงการปลดหนี้สร้างสุข เป็นโครงการที่เริ่มต้นด้วยความรักของหัวหน้าและลูกน้อง ที่เขาเห็นความเครียดจากปัญหาภาระหนี้สินภายในบ้านของพนักงาน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผู้จัดการฟาร์มมองว่าจะเป็นปัญหาของลูกทีมของเขา พยายามที่จะช่วยเป็นคนๆ ไป ให้ยืมเงินบ้าง พอหนักๆ เข้าก็ลำบากเหมือนกัน เช่น พนักงานรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน แต่ก่อหนี้สินสูงถึง 18,000-19,000 บาท ซึ่งพอเราคุยกับเขาจะเห็นต้นเหตุของปัญหาหนี้สิน จากการซื้อรถกระบะ หนี้นอกระบบ หรือมีบัตรเครดิตแต่จ่ายเพียงขั้นต่ำมานาน หมุนวนไปเรื่อยๆ รวมทั้งมีปัญหาอื่นๆ เช่น ค่าเทอมลูก พ่อแม่ป่วย ฯลฯ ทำให้เขาไม่สามารถชำระหนี้ได้

ปัญหาเรื่องหนี้สินสะท้อนมาถึงผู้บริหาร จึงเกิดแนวคิดการช่วยเหลือเรื่องหนี้ของพนักงานอย่างเป็นระบบ บริษัทเล็งเห็นปัญหาจึงเข้าไปให้คำแนะนำเพื่อลดปัญหาหนี้สิน เพื่ออนาคตของพนักงาน โดยในระยะต้นผู้บริหารระดับสูงได้ตั้งกองทุนใหญ่ขึ้นมา 1 กองทุนเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนช่วยเหลือพนักงานในเบื้องต้น แต่เนื่องจากพนักงานของเครือซีพีเอฟมีจำนวนมากถึง 70,000 คน และปริมาณภาระความเป็นหนี้ก็มีมากเช่นกันทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเครือซีพีเอฟ จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินหลายแห่งในการเป็นแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้พนักงาน

ทำหนี้ให้อยู่ในระบบ ดึงสถาบันการเงินช่วย

ปริโสทัต อธิบายว่า การคัดเลือกพนักงานที่จะเข้าสู่โครงการปลดหนี้ สร้างสข ของซีพีเอฟ เริ่มต้นจากการสอบถามประวัติการเป็นหนี้ จำนวนหนี้ และเจ้าหนี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเหลือ คนที่เป็นหนี้เองต้องกล้าที่จะพูดความจริงออกมา บางคนไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัวว่าอาจจะมีผลกับการประเมินผลงาน ซึ่งเราต้องให้ความรู้ความเข้าใจว่าเรื่องหนี้ไม่ใช่ไม่มีทางออก เพราะมีช่องทางที่จะช่วยกันได้ จากนั้น ก็คัดกรองผู้ที่เป็นหนี้ โดยเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ อายุการทำงาน ความซื้อสัตย์ ผลการทำงาน ความจริงใจในการทำงาน เพราะเราต้องป้องกันการหนีหนี้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่สถาบันการเงินด้วย เมื่อได้คุณสมบัติสำคัญที่จะมีสิทธิ์เข้าโครงการแล้ว ก็เข้าสู่หลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน ซึ่งบางครั้งคนที่ลำบากจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเนื่องจากติดกติกา เช่น ติดแบล็คสิสต์สินเชื่อ เป็นต้น

“การดึงสถาบันทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็ต้องยอมรับว่าสถาบันทางการเงินก็มีเงื่อนไขในการเข้าโครงการ ต้องยอมรับว่ามีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการได้และไม่ได้ แต่เราก็พยายามช่วยเหลือคนที่มีปัญหาและมีความจำเป็นสูงสุดก่อน ซึ่งจากคนที่เข้าโครงการ นอกจากช่วยให้เขาสามารถมีกำลังในการชำระหนี้แล้ว สิ่งที่เราทำเพิ่มเติมขึ้นมาคือ การนำส่วนต่างของดอกเบี้ยที่เขาเคยเป็นหนี้ มาเก็บเป็นเงินออม เช่น แต่เดิมเขาอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 7,000 บาทต่อเดือน พอมาเข้าโครงการเขาอาจจะเหลือดอกเบี้ย 2,000 บาทต่อเดือน นั่นแปลว่าเขามีส่วนต่างของเงินที่ต้องส่งธนาคาร เราจึงแนะนำให้เขานำเงินส่วนต่างมาออม แล้วก็เปิดบัญชีออมขึ้นควบคู่ไปกับการใช้หนี้

เติมความรู้ ให้ภูมิคุ้มกันทางการเงิน

ขณะที่ใช้หนี้ และเริ่มต้นมีเงินออม ซีพีเอฟยังร่วมกับสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อ เดินสายจัดกิจกรรม ให้ความรู้ด้านบริหารเงินกับพนักงาน เช่น การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน การวางแผนการเงิน ให้แก่พนักงานโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

ปริโสทัต กล่าวอีกว่า “กุญแจสำคัญในการปลดหนี้คือ การให้ความรู้ คำแนะนำการวางแผนทางการเงิน ส่งเสริมให้พนักงานทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับพนักงานถ้าไม่ทำเขาจะไม่มีทางรู้เลยว่าใช้จ่ายไปในสิ่งที่ไม่ควรใช้จ่าย เพื่อให้เห็นผลคือผู้จัดการของเราจะต้องมีการตรวจบัญชีครัวเรือนของพนักงานทุกเดือน และให้ความเห็นเรื่องการใช้จ่าย ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เช่น เราจะเห็นว่าดื่มเหล้าสังสรรค์ ค่าหวย ก็แนะนำว่าค่าเหล้าค่าหวยในแต่ละเดือนสามารถนำมาตัดดอกเบี้ย หรือนำมาออมดีกว่าไหม คนงานหลายคนเข้าใจและพยายามทำ ซึ่งสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ

นอกจากจะมีการตรวจบัญชีเงินออม และตรวจบัญชีครัวเรือนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของสังคมบ้านเราก็คือการอยากได้ อยากมีเหมือนคนอื่นเขา ยกตัวอย่างเช่นพนักงานที่ทำงานในฟาร์มของเราส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด และมีค่านิยมว่าจะต้องมีรถกระบะ เวลากลับบ้านสงกรานต์ปีใหม่ก็ต้องมีรถไปอวด เดี๋ยวจะอายคนอื่นเขาว่ามาทำงานแล้วทำไมยังนั่งรถทัวร์ ซึ่งเป็นค่านิยมที่น่าเป็นห่วง หรือมีช่วงไหนที่โปรโมชั่นสมาร์ทโฟนออกมาใหม่ ลูกๆ ของพนักงานหรือแม้แต่เด็กจบใหม่ ก็อาจจะอยากอวดของใหม่กับเพื่อนๆ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงที่เขาจะนำเงินในอนาคตมาใช้ หรือหยิบยืมคนอื่นมา ตรงนี้ก็เป็นการสร้างภาระหนี้ให้โดยที่คาดไม่ถึง

ผู้จัดการทั้งหลายก็พยายามสอน โดยให้คติว่า “จะใช้สวย หรือใช้สอย?” เพราะว่าการเป็นหนี้หรือใช้จ่ายเงินต้องอยู่ที่ “สติ” เวลาที่จะจ่ายเม็ดเงินออกไปแต่ละครั้ง จะเป็นเรื่องที่เราต้องถ่ายทอดและสอนพนักงานของเราอยู่เสมอ เมื่อเขาประสบปัญหานี้ ก็ต้องคุยกับพวกเขาว่า รถกระบะจำเป็นต้องใช้แค่ไหน เพราะบางโรงงานมีรถรับ-ส่ง หลายคนเราแนะนำให้ขายรถเพื่อให้เขามีความสุข เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่รอด และหนี้ก็จะพอกพูน เขาต้องตระหนักถึงการจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น

จากการติดตามผลของโครงการพบว่า พนักงานพึงพอใจ เพราะสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้จริง พนักงานระวังในการใช้เงินมากขึ้น มีการวางแผนผ่านบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน ทั้งยังทำให้พนักงานได้มีเงินเก็บออมในแต่ละเดือน ที่สำคัญยังยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้ จากความสำเร็จในโครงการดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นลงมือทำเป็นจุดสำคัญ ไม่มีใครมาช่วยเราถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองก่อน ซึ่งโครงการนี้ถือว่าตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้สินให้กับพนักงานเขามีความสุข ลืมตาอ้าปากได้และมีกำลังดูแลลูกหลานต่อไป”

ปัจจุบันมีพนักงานเข้าร่วมโครงการปลดหนี้ 1,200 ราย วงเงินกู้ประมาณ 380 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมองถึงความสำเร็จของโครงการในระยะยาว และความต่อเนื่องของโครงการยังได้ถ่ายทอดวิธีการช่วยเหลือ การดูแลพนักงานให้กับผู้จัดการฟาร์มที่จะขึ้นมาดูแลโครงการต่อไปด้วย เพื่อเป้าหมายความสุขของพนักงานและความยั่งยืนของธุรกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน