“สุดยอดนวัตกรรมทางทะเล (Blue Innovation) : จากหนังปลาเหลือทิ้ง สู่ผลงานด้านแฟชั่นและด้านการแพทย์ระดับโลก”

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ และ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม

ได้เข้าร่วมการประชุมนวัตกรรมแห่งท้องทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน “Blue Innovation: Emerging Technologies and Trends in Fishery Sustainability” และเยี่ยมชมนิทรรศการนวัตกรรมทางทะเล (Fisheires Innovative Forum) ณ สำนักงานใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี

นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพื่อสร้างมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งทางทะเล มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “Blue Innovation”

นวัตกรรมด้านแฟชั่น จากหนังปลาเหลือทิ้ง สู่ผลงานด้านแฟชั่น (Blue Fashion) มีตัวแทนจากประเทศบราซิล Ms. Barbara Della Rovere ดีไซเนอร์ผู้ใช้หนังปลาที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่บราซิล มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั้งกระเป๋า เข็มขัด และเครื่องประดับซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนแม่บ้านชาวประมงในบราซิล โดยผลิตภัณฑ์จากทะเลนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสะท้อนเรื่องราววิถีประมงพื้นบ้านอีกด้วย

CEO หนุ่มจากประเทศเคนยา Mr.James Ambuni กล่าวว่า ในเคนยาและประเทศแอฟริกา ยังมีหนังปลาจำนวนมากที่เหลือทิ้ง จากอุตสาหกรรมประมง ดังนั้น นวัตกรรม Blue Fashion จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะอาหารทะเล สู่นวัตกรรมสินค้าแฟชั่นระดับพรีเมี่ยม

โดยบริษัทของเขาได้ผลิตสินค้าแฟชั่นจากหนังปลากระพงแม่น้ำไนล์ (Nile Perch) ซึ่งปัจจุบันสินค้าจากหนังปลา เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม เหมือนที่สินค้าที่ผลิตจากหนังงู หรือหนังจระเข้ ที่ถือเป็นสินค้า Exotic Skin ต่างกันตรงที่งูจะถูกฆ่าเพื่อเอาหนังมาผลิตสินค้า แต่สินค้าจากหนังปลาเอาของเหลือทิ้งจากการผลิตอาหารมาผลิตสินค้า ดังนั้น สินค้าแฟชั่นจากหนังปลาจึงถือเป็นสินค้าที่ไม่ทารุณสัตว์ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และรักษาวิถีประมงพื้นบ้าน

นวัตกรรมด้านการแพทย์ ได้นำหนังปลาเหลือทิ้ง สู่นวัตกรรมด้านการแพทย์ โดยการใช้คุณสมบัติของหนังปลามาช่วยสมานแผลไฟไหม้ หนังปลายังอุดมด้วยโอเมก้า และคอลลาเจน จึงช่วยในเรื่องการชะลอวัย อีกทั้งเชื้อโรคจากปลาสามารถส่งผ่านติดต่อทางมนุษย์ได้ยากกว่าสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนี้ บางศาสนาไม่อนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากวัว ดังนั้นผลิตภัณฑ์จากปลาจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยา

สำหรับนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากเกล็ดปลาเหลือทิ้ง ถูกนำมาพลาสติกชีวภาพ: นักวิจัยจากอังกฤษ Ms. Lucy Hughes จาก University of Sussex ได้ใช้นวัตกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเกล็ดปลาเหลือทิ้ง ที่ใช้เวลา 6 เดือนในการย่อยสลาย ซึ่ง Ms. Hughes เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการ “เปลี่ยน” โลกให้น่าอยู่ขึ้น ด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีโดรน ยังถูกนำมาใช้ในการตรวจจับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) เพื่อติดตามและรายงานข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินงานตามกฎหมาย นวัตกรรมโดรนยังใช้ในการตรวจสอบและติดตามมลพิษทางทะเลอีกด้วย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน