จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีหลายโครงการเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินงาน ถือเป็นความหวังของประเทศไทย ที่จะก้าวสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่มีอีกหนึ่งโครงการที่กำลังถูกจับตาจากหลายฝ่าย นั่นคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงผลการตัดสินแหลมออกมาทางสื่อ พร้อมดราม่า ความเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ที่ออกจะหมิ่นเหม่การกดดันกระบวนการยุติธรรมจนน่าเป็นห่วง ซึ่งว่ากันไปแล้ว ผลการตัดสินก็วัดกันที่ข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องมีดราม่านอกจอ

กองทัพเรือ หรือ ทร. มีบทบาทเป็นกรรมการ แต่ทำไมจึงมักออกมาพูดออกสื่อเสมอ คือ ทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ว่า ระบบจัดซื้อ จัดจ้าง ที่อ้างถึงนั้นเป็นอย่างไร?

เป็นที่สนใจของผู้ที่ติดตามข่าวสาร โดยมีการหยิบยกคำวินิจฉัยในอดีตของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับข้อพิพาททางปกครอง ซึ่งเอกชน 5 รายแพ้คดี ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูลงานของรัฐ เนื่องจากมาไม่ทันกำหนดเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมเสนอราคา โดยเทียบเคียงกับกรณีของกลุ่มธนโฮลดิ้งและพันธมิตรที่ถูกคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์ไม่พิจารณาเอกสารข้อเสนอ 2 กล่องสุดท้ายที่ยื่นช้าจากกำหนดเวลา 15:00 น. ไป 9 นาทีนั้น

เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของมูลคดีของเอกชนทั้ง 5 ราย (ตามตารางมูลคดีที่เอกชน 5 รายถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐ) กลับเห็นความจริงอีกด้านที่แสดงถึง ความแตกต่างอย่างชัดเจนของข้อมูลและบริบทแวดล้อม ที่ทำให้ทั้ง 5 คดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกล่าวอ้างนั้น ไม่อาจนำมาเทียบเคียงหรือยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินกับคดีอู่ตะเภาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดโครงการหรือวิธีการประมูล ซึ่งทั้ง 5 คดี มีวงเงินประมูลสูงสุดเพียง 11.5 ล้านบาท การประมูลก็ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ในขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กท์ขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน วงเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท กับทั้งเป็นการประมูลแบบเปิดซองเอกสารเสนอราคา ซึ่งโครงการประเภทนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน มองที่ผลประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นหลักด้วย หากตัดสิทธิ์ผู้เข้าประมูลโดยใช้แนวทางการพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงการอื่นเพียงด้านเดียวก็จะทำให้ขาดการพิจารณาในข้อเท็จจริงและสภาพแวดล้อมในบริบทที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในขั้นตอนของกระบวนการตรวจรับเอกสารในวันเกิดเหตุ ตลอดจนคำกล่าวอ้างและคำโต้แย้งของฝ่ายผู้ฟ้องคดี (กลุ่มธนโฮลดิ้ง) และผู้ถูกฟ้องคดี (ฝ่ายคณะกรรมการคัดเลือกฯ) จะพบช่องโหว่ที่เปิดไว้ค่อนข้างมาก อาทิ

• ในกระบวนการการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลบ่งบอกรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ขั้นตอนการลงทะเบียน ขั้นตอนการทดสอบระบบ และขั้นตอนการเสนอราคา ว่าแต่ละขั้นตอนผู้เข้าร่วมประมูลต้องปฏิบัติตนอย่างไร ขณะที่การประมูลโครงการอู่ตะเภาไม่ได้กำหนดขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ อย่างละเอียดชัดเจน จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์

• การลงทะเบียน : ในข้อเท็จจริงพบว่า กลุ่มธนโฮลดิ้งได้มาลงทะเบียนเป็นรายแรกตั้งแต่เวลา 12:20 น. (มีหลักฐานจากภาพถ่ายของสื่อมวลชน) และนั่งรออยู่ในห้องรับรอง จนกระทั่งเวลา 15:00 น. เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้ยื่นเอกสารทีละราย ซึ่งกลุ่มบีบีเอสยื่นเป็นรายแรก และกลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นเป็นรายสุดท้าย

• ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า “จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด” จากคำกล่าวอ้างนี้ เท่ากับว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่า กลุ่มธนโฮลดิ้งอยู่ในเวลาและสถานที่ที่กำหนดแล้ว จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ที่กำหนด

• ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า “ผู้ที่ปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ หากมีการดำเนินการนอกจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด” จากคำกล่าวอ้างนี้และคำกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ เมื่อกลุ่มธนโฮลดิ้งไม่ได้อยู่นอกเหนือเกณฑ์ที่กำหนด และเจ้าหน้าที่ได้ยอมรับการคงอยู่ ตลอดจนเอกสารของกลุ่มธนโฮลดิ้งแล้ว จึงไม่มีเหตุอันใดให้ไม่พิจารณาเอกสารของกลุ่มธนโฮลดิ้ง

• ผู้ถูกฟ้องคดี ได้อ้างในศาลโดยนำคดีนี้ไปเทียบเคียงกับคดีของเอกชนรายอื่น ที่ถูกเจ้าหน้าที่ที่จุดลงทะเบียนและตรวจรับเอกสารตัดสิทธิ์การเข้าประมูล เนื่องจากมาช้าเพียง 39 วินาที เท่ากับเป็นการยอมรับในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ขณะที่คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีกลับกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เท่ากับเป็นการขัดแย้งในคำให้การของตนเอง คือยอมรับคำตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในคดีอื่น แต่ไม่ยอมรับในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในคดีนี้ ด้วยเหตุนี้จะสามารถเทียบเคียงคดีทั้งสองได้อย่างไร

• จากคำกล่าวอ้างที่ว่า “โครงการนี้มีการยื่นเอกสารจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายทยอยนำเอกสารมาส่ง โดยคณะกรรมการฯ เรียกรายแรกยื่นเอกสารในเวลา 15:00 น. และเรียกกลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นในเวลา 16:45 น. ซึ่งมีเอกสารครบถ้วนทุกรายการและคณะกรรมการได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด โดยเสร็จสิ้นในเวลา 18:00 น.” ย่อมแสดงให้เห็นว่า เมื่อรายแรกเริ่มยื่นเอกสารในเวลา 15:00 น. กระบวนการย่อมเป็นไปโดยต่อเนื่องและเกินเวลา 15:00 น. อย่างแน่นอน ดังนั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีอ้างตามคำกล่าวว่า “คณะกรรมการได้ยึดถือในเรื่องเวลาเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09:00 น. – 15:00 น หากมายื่นหลังเวลา 15:00 น.จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลยพินิจเรื่องขยายเวลา” แม้ผู้ยื่นเอกสารรายแรกก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเช่นกัน

• คำกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า “ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่น่าจะเกินเลยไป ด้วยข้อเท็จจริงของแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน จึงไม่น่าจะถือว่าเป็นการทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการกล่าวอ้างเช่นนั้น อาจทำให้ถูกมองได้ว่า เป็นการดูหมิ่นหรือกดดันการพิจารณาของศาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างเป็นกลาง หากมีใครมาวิจารณ์คำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมได้ ประเทศคงเดินหน้าไปต่อยาก!!

หลายวันที่ผ่านมาเกิดประเด็นที่สื่อออกมาพาดหัวว่า ทัพเรือเดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้ ทำให้สังคมถามกลับไปว่า เดือดใคร? มีสิทธิ์เดือดหรือไม่ โดยเฉพาะบทบาทภาครัฐที่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน

เมื่อมีรายละเอียดที่ไม่เข้าใจกัน ศาลก็ทำหน้าที่ไปตามกระบวนการ และอย่าลืมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ เป็นเพียงคำแถลงของตุลาการเพียงท่านเดียวเท่านั้น ยังไม่ใช่คำพิพากษา ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องส่งสำนวนคดีไปให้องค์คณะผู้พิพากษาเพื่อตัดสินคดีต่อไป ซึ่งจะตัดสินเหมือนหรือแตกต่างจากคำแถลงของตุลาการก็เป็นได้

ความเห็นส่วนตัว การสร้างกระแสออกมาในลักษณะนี้ คงไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่า เรากำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุน แต่ภาพที่ออกมา ดูเหมือนจะเป็นเจ้าบ้านไล่แขก

ดังนั้น การไม่ตัดสินใจทำเอง เชิญคนมาร่วมลงทุนแล้ว การรักษาบรรยากาศที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตัดเรื่องอารมณ์และการเสียหน้า เพราะราคาค่าหน้าตาคงไม่คุ้ม หากตัดสิทธิ์แล้วผลออกมารัฐเสียหาย เวลานั้นค่าหน้าตาคงหลายหมื่นล้าน ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์ ทางที่ดีเชิญชวนคนเข้ามาลงทุน ก็ว่าไปตามคำตัดสิน ตรงไปตรงมา เดินหน้าเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อมีข้อสงสัยก็ว่ากันไปตามกฏหมาย แต่ต้องไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาใช้ในการตัดสิน เพราะไม่มีใครแพ้ชนะ

จะว่าไปแล้ว ประเด็นในช่วงที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงต่อการกดดันกระบวนการยุติธรรม เพราะการออกมาให้ข่าว หวังพลิกคำสั่งศาลนั้น ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ เพราะคำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลรธน. มีข้อห้ามละเมิด วิจารณ์แง่ลบ หรือในทางกดดันศาลไว้ชัดเจน โดยมีผลผูกพันผู้วิจารณ์ และหน้าที่ในองค์กร เพื่อคุ้มครองตุลาการให้ปฎิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม

และหากมองลึกๆ การที่ ทร. ออกมาต่อสู้ในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีการเปิดซองราคาของกลุ่มธนโฮลดิ่งนั้น ประเทศชาติ หรือ ทร.เอง ได้ประโยชน์อะไร จากการสกัด ผู้แข่งขัน 1 ราย ไม่ให้เปิดซอง ให้เหลือเพียงผู้แข่งขันเพียง 2 ราย ผลประโยชน์ของชาติ ที่จะได้ประโยชน์จากผู้เสนอราคาที่ดีที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อเทียบกับการรักษาหน้าตา กับมูลค่าหลายหมื่นล้านที่ประเทศชาติอาจเสียหาย สู้ถอยคนละก้าว มาฟังคำตัดสินศาล หากตัดสินให้เปิดซอง ก็ว่าไปตามราคาที่ยื่นกันมา โดยไม่มาดราม่ากันนอกเวที ประเทศชาติก็จะเดินหน้า โครงการอีอีซีอื่นๆภายใต้ อีอีซีก็จะได้ไม่ติดขัด เพราะดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือ Ease of doing business หรือความง่ายในการทำธุรกิจในประเทศไทย มิใช่ต้องเหนื่อยไปใช้บริการศาลปกครอง เพราะสุดท้ายแล้วมีกฏธรรมชาติของโลกมนุษย์คือ เมื่อมีการแข่งขัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ามาลดกลไกการแข่งขัน ก็ไม่รู้ว่าผลประโยชน์สูงสุดจะอยู่ที่ใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน