ฝาแฝด สนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ คือ ฮาเนดะและนาริตะ แห่งมหานครโตเกียว

ในระหว่างที่การประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกกำลังขับเคี่ยวกันจนถึงโค้งสุดท้าย ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า ทำไมจึงต้องแข่งขันกันดุเดือด และสนามบินแต่ละที่นั้นทำกำไรสูงเพียงไร ซึ่งสนามบินแต่ละที่ในต่างประเทศนั้นจะมีบริษัทที่ดูแลแตกต่างกันไป

วันนี้จะพาไปดูสนามบินในโตเกียว หลักๆ มีผู้ประกอบการ 2 ราย รายแรกคือ บริษัทท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ซึ่งแปรสภาพมาจากองค์การบริหารงานท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวแห่งใหม่ ทำหน้าที่บริหารสนามบินนาริตะ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายปี 2018 อยู่ที่ 75,585 ล้านบาท โดยมีกำไรอยู่ที่ 5,629 ล้านบาท

ในขณะที่ปี 2017 มีรายได้รวม 62,418 ล้านบาท และมีกำไร 3,709 ล้านบาท มีผู้โดยสาร 42.6 ล้านคนในปี 2019

ในขณะที่รายที่สองคือ บริษัท Japan Airport Terminal (JAT) ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 ถือหุ้นใหญ่โดย MSIP CLIENT SECURITIES และ Japan Airlines

บริษัทนี้บริหารจัดการสนามบินนานาชาติ ฮาเนดะ อยู่ในจังหวัดโตเกียว ส่วนสนามบินนานาชาติ นาริตะ ซึ่งอยู่ในจังหวัดชิบะ และ สนามบินนานาชาติ คันไซ ซึ่งอยู่ในจังหวัดโอซาก้า ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในการบริหารของ JAT แต่มีส่วนที่เป็น Duty Free ที่ JAT เข้าไปดูแล

ปี 2015 JAT รายได้ 50,591 ล้านบาท กำไร 1,938 ล้านบาท
ปี 2016 JAT รายได้ 58,966 ล้านบาท กำไร 2,562 ล้านบาท
ปี 2017 JAT รายได้ 59,202 ล้านบาท กำไร 1,989 ล้านบาท
โดยมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 79.5 ล้านคน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระยะทางระหว่างสุวรรณภูมิ กับอู่ตะเภาแล้ว ก็เปรียบเทียบได้กับสนามบินฮาเนดะ และสนามบินอู่ตะเภา ที่มีระยะทางไม่แตกต่างกัน และจะมาเสริมกำลังกันได้เป็นอย่างดี ทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจสนามบินนั้นถือว่าทำกำไรค่อนข้างสูง หากจำลองกำไรของสนามบินนาริตะ เทียบกับโครงการสนามบินอู่ตะเภา โดยเทียบกำไรของสนามบินนาริตะที่เฉลี่ยปีละ 5,629 ล้านบาท มาเป็นกำไรตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ และสมมติว่าทำกำไรทุกปี ตลอดระยะเวลา 50 ปี เท่ากับระยะเวลาโครงการของสนามบินอู่ตะเภา โดยมีผู้โดยสารเต็มความจุสนามบินตลอด 50 ปี จะทำให้บริษัทที่ได้บริหารสนามบิน ตลอดระยะเวลา 50 ปี ทำกำไรรวมถึง 281,450 ล้านบาทเลยทีเดียว (ซึ่งกำไรรวมนี้ยังไม่นับรวมค่าก่อสร้างสนามบิน และค่าส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องให้กับภาครัฐ)

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ปกติเวลาสร้างสนามบินค่าก่อสร้างสนามบินมีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ ลองมาทบทวนความจำกับการสร้างสุวรรณภูมิ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าของโครงการคือ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ มีค่าก่อสร้างประมาณ 120,000 ล้านบาท ต่อมาได้มีการพัฒนาเพิ่มเติม พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี มาเป็น 60 ล้านคนต่อปี ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 65,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้มูลค่าก่อสร้างรวมของสุวรรณภูมิในปัจจุบันสูงถึงเกือบสองแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม วันนี้จำนวนผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิถือได้ว่าเต็มพิกัด และสนามบินอู่ตะเภาจะช่วยแบ่งเบาภาระไปได้มาก โดยโครงการสนามบินอู่ตะเภา เมื่อสร้างสำเร็จ จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เช่นเดียวกับที่นาริตะ และฮาเนดะ ที่เป็นสองสนามบินที่ทำให้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นแข็งแกร่ง หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาทำได้สำเร็จ จะเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้อีอีซีเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน