เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.60 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดเสวนา “จัดทัพปรับขบวนชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา60” โดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ มุ่งเน้นกิจกรรมสู่การบูรณาการเชิงระบบมากขึ้น หนุนให้เกิดเวทีขับเคลื่อนสร้างเสริมความร่วมมือของกลไกการทำงานระดับอำเภอ ชุมชน ระบบสุขภาพ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยทำงานเสริมพลัง เน้นกลยุทธ์ 3 ขยาย คือ1.ขยายพื้นที่ ขับเคลื่อนงานงดเหล้าเข้าพรรษาให้เกิดขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ1 อำเภอ 2.ขยายกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่เพียงแค่ผู้ดื่มแต่รวมไปถึงผู้เสพและผู้ติดด้วย 3.ขยายเวลาสามเดือนในช่วงเข้าพรรษา ส่งเสริมให้คน งดเหล้าต่อหลังออกพรรษาหรือเลิกเหล้าตลอดชีวิต โดยตั้งเป้าให้มีแกนนำงดเหล้าเข้าพรรษาระดับอำเภอ 500 คนทั่วประเทศ

 

“ปีนี้มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนด้านจิตใจเพื่อช่วยเลิกและบำบัดผู้เสพและผู้ติดสุรา เช่น แนวทางพุทธ แนวทางแพทย์แผนไทย และแนวทางจิตวิทยา นำไปสู่การสร้างเครือข่ายคนหัวใจหิน (งดเหล้าครบพรรษา)และชมรมคนหัวใจเพชร (คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต) ต่อยอดสู่การสร้างความร่วมมือ พัฒนาแผนการทำงานและกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการทำงานของ 500 แกนนำระดับอำเภอ คือการลดลงของทั้งผู้ดื่ม ผู้เสพ และผู้ติด คาดว่าจะมีพื้นที่ดำเนินงานในชุมชน/ท้องถิ่น เพิ่มขึ้น มีบริการเพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาให้เป็นกลไกของพื้นที่ เชื่อมต่อกับระบบสุขภาพอำเภอ” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลความชุกการดื่มสุราในรอบ12เดือนของปี56 พบว่า มีการดื่มสุราแบบผิดปกติ หรือติดสุราสูงถึงร้อยละ5.3 มีเพียง ร้อยละ2 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนบำบัดรักษา และผู้ที่ติดสุรามีเพิ่มขึ้นกว่าปีละประมาณร้อยละ1 ทั้งนี้ส่วนใหญ่คนที่เข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นกลุ่มคนที่ดื่มแบบไม่ได้เสพติดจนหยุดดื่มไม่ได้ หรือที่เรียกว่ากลุ่มดื่มเพื่อสังคม ส่วนกลุ่มที่เสพติดมักไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อลดอาการลงแดง และต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทั้งภายนอกและภายในเพื่อป้องกันการกลับมาดื่มซ้ำ ปัจจุบันมีการบำบัดรักษา2แบบ คือ แพทย์สมัยใหม่ ใช้จิตวิทยา จิตบำบัด หรือใช้โปรแกรมสติบำบัดปรับเปลี่ยน ความคิดพฤติกรรม ส่วนแพทย์ทางเลือก ใช้วิถีธรรมชาติบำบัด หรือ ใช้หลักศาสนาพุทธเข้ามาช่วย เช่น แพทย์วิถีธรรม ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ เพื่อให้กลับมาควบคุมตัวเองได้

 

“สิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการรักษาผู้เสพติดสุรา คือ เข้าถึงการบำบัดเพื่อให้เลิกสุราได้อย่างเข้าใจ และต้องให้กำลังใจ เกิดกระบวนการหนุนช่วยของเครือข่าย สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงบุคลิกภาพ และความต้องการแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ผู้สูงอายุ อาจใช้วีถีทางธรรม ศาสนา เข้ารักษา หรือสมุนไพร ส่วนผู้เสพติด กลุ่มผู้ใหญ่ คนทำงาน อาจต้องใช้แพทย์สมัยใหม่ ทางด้านจิตวิทยาเข้าช่วย ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น ต้องใช้การรณรงค์โดยตรงในโรงเรียน สถานศึกษา สร้างค่านิยมเรียนรู้ที่ถูกต้อง ชี้ให้เห็นปัญหาพิษภัยของการดื่มเหล้า” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นายวิศิษฐ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองพะเยา กล่าวว่า มาตรการที่ใช้ทำงานเพื่อลดการดื่มสุรา จนทำเมืองพะเยาเป็นพื้นที่ที่ลดการดื่มลงอย่างต่อเนื่องนั้น คือ 1.ใช้กฎหมายเข้ามาบังคับคุมเข้มในการเปิดปิดสถานบริการ และบริเวณพื้นที่เสี่ยง เช่น หน้าสถานศึกษา ใจกลางเมือง ร้านเปิดใหม่ ต้องเฝ้าระวังร่วมกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เช่น ที่พื้นที่แม่กา และ ท่าวังทอง 2.ใช้กฎหมู่ คือ การใช้ข้อบังคับที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน เน้นเข้มข้นชัดเจน เช่น การสร้างกิจกรรม งานแต่ง งานบุญ งานศพ ปลอดเหล้า หรือ การมีโครงการ วางเป้าหมาย 172หมู่บ้านปลอดเหล้าถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยให้แต่ละหมู่บ้านมีกิจกรรมที่ปลอดเหล้า เชื่อมต่อเนื่องกับกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา และ3.ค้นหาคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหล้า มาตั้งเป็นชมรมคนปลอดเหล้า ซึ่งในพื้นที่ตอนนี้มีเกือบ3พันคนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เขาเห็นและเกิดการเปรียบเทียบว่า คนไม่กินเหล้า ก็มีกิจกรรมทำที่เป็นประโยชน์ มีแบบอย่างความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพิงเหล้าได้

 

“พะเยาเหมือนถูกตราหน้าว่าเป็นจังหวัดที่เป็นแชมป์คนดื่มมากที่สุด คนในจังหวัดจึงร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ทำให้สถิติ เมืองพะเยาไม่ได้ติดอันดับ1 อีกแล้ว แต่เป็นอันดับที่18 ซึ่งถือว่าลดอันดับลงไปเยอะมาก และขณะนี้ทุกอำเภอของพื้นที่ ยังช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีแกนหลักคือทางจังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนมอบนโยบายลงสู่พื้นที่ต่างๆ” นายอำเภอพะเยา กล่าว

 

ขณะที่ นายสุทิน อินเลงราช อายุ 38 ปี ชาวบ้านท่าช้าง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวว่า ตนตั้งมั่นที่จะเลิกเหล้าให้ได้ เพราะสำนึกผิดที่ทำให้พ่อเครียดจนเสียชีวิต ทำให้แม่ลำบาก และยังเป็นต้นเหตุทำให้สูญเสียครอบครัว ต้องเลิกกับภรรยาและไม่ได้ดูแลลูกชาย ทั้งหมดมีสาเหตุจากการติดเหล้ามากว่า 20 ปี ตอนนี้สามารถเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาดกว่า 4 เดือนแล้ว สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากวงจรเหล้าได้เพราะการให้โอกาสของสังคม ชุมชน และกำลังใจจากคนรอบตัว จนทำให้มีพลังใจเด็ดขาดที่จะตั้งหลักใหม่ และจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเลิกเหล้าได้จริง ไม่อยากให้ลูกชายถูกด่าว่ามีพ่อขี้เหล้า

 

“ผมได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกลุ่มคนเลิกเหล้าในชุมชน เดือนละ 4 ครั้ง มีทีมแพทย์ และเพื่อนๆ คนในชุมชน ญาติพี่น้องมาให้กำลังใจ จนวันนี้ทำให้แม่ภาคภูมิใจไปไหนก็ยิ้มได้ แม่บอกทุกคนว่า แม่เหมือนได้ลูกชายคนใหม่ หลังจากที่ผมเลิกเหล้า และตอนนี้ผมได้เริ่มต้นทำอาชีพทำเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักขายจากใบลำไย เพื่อเลี้ยงชีพ อยากฝากเป็นบทเรียนชีวิตให้กับคนที่ติดเหล้าคนรุ่นหลังว่า ขอให้เริ่มต้นใหม่ตั้งใจเลิกเหล้า เพราะเหล้าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความสูญเสียทั้งสุขภาพและทรัพย์สิน” นายสุทิน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน