กสศ. ผนึก พศ.ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เติมโอกาสให้สามเณรได้เรียนต่อ นำร่องทดลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม 41 แห่ง หลังพบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย อาหาร ค่าใช้จ่ายเดินทาง และสุขภาวะอนามัยกระทบต่อคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ห้องประชุมอาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พร้อมนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมลงนาม (MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดำเนินงานโครงการทดลองเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

นายสุภกร กล่าวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานของ กสศ.ด้านการช่วยเหลือสามเณรยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งด้านที่พักอาศัย อาหาร ค่าเดินทาง บางวัดไม่มีการสนับสนุนให้เรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อีกทั้งยังขาดแคลนทรัพยากรการเรียนการสอน ขาดสุขภาวะอนามัยที่ดี หากไม่เข้าไปช่วยเหลืออาจต้องขาดการศึกษาที่มีคุณภาพและความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมะจึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

“กสศ.และพศ.จะทดลองนำร่องกับสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา กลุ่ม11 (ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ) จำนวน 41 แห่ง สามเณร 1,500 รูป เพื่อหารูปแบบหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการช่วยเหลือ เนื่องจากพบว่ากลุ่มนักเรียนสามเณรไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเหมือนกับนักเรียนในสังกัดสพฐ.ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบเครื่องมือและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการเข้ามาช่วยเหลือเพื่อจัดสรรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและแม่นย้ำ โดยระหว่างทดลองจะนำระบบสารสนเทศมาตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อหาวิธีการคัดกรองหรือรูปแบบความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย และขยายความช่วยเหลือทั้งหมดประมาณปี 2564”

นายสุภกร บัวสาย

นายสุภกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กสศ.ยังดำเนินการพัฒนาคุณภาพกลุ่มครูและโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 50 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งด้านทักษะสัมมาชีพ บนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงพัฒนาคุณภาพครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้านทักษะอาชีพตามความถนัดอย่างมีศักยภาพ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือศึกษาต่อสายอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้พ้นจากความยากจนได้

ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษามีทั้งหมด 408 แห่ง มีนักเรียนสามเณรรวม 34,634 รูป เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวยากจน จึงไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ผู้ปกครองจึงพามาบวชเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรมพบปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาหลายด้าน อาทิ ปัญหาด้านคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ปัญหาการขาดแคลนครู ปัญหาสุขภาพอนามัยของนักเรียนสามเณร เป็นต้น

“ต้องขอขอบคุณ กสศ. ที่เห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยเติมเต็มให้นักเรียนสามเณรของเราได้รับทุนและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยหลังจากที่ได้ลงนาม MOU แล้ว จะสั่งการให้ พศจ.ทั้ง 64 จังหวัด ที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้ทำการสำรวจจำนวนสามเณรที่มีความยากจนตามเงื่อนไขของ กสศ. เพื่อจะช่วยสนับสนุนในส่วนของข้อมูลอย่างเร่งด่วน มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่สามเณรให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต” นายณรงค์ กล่าว

ขณะที่ พระมหาวิจิตร กลฺยาณจิตฺโต ผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมมหาสวัสดิ์วิทยา ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 1 กล่าวว่า สามเณรส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตรกร เมื่อเรียนจบก็กลับไปทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ มีเพียงส่วนน้อยที่จะเรียนต่อไปจนถึงระดับปริญญาตรี เพราะสามเณรเข้าถึงแหล่งเงินทุนการศึกษายากกว่าคนทั่วไปจึงขาดโอกาสในการศึกษาต่อ

ดังนั้นเมื่อ กสศ.ได้เข้ามาสนับสนุนเพิ่มโอกาศทางการศึกษาให้นักเรียนสามเณร จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กสศ.ยังมีนโยบายลงพื้นที่อบรมครู ช่วยพัฒนาทักษะการสอนของครู และช่วยเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคนิคการสอน ที่สามารถส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านความคิดให้นักเรียนได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพโรงเรียนและครูได้อย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน