เมื่อวันที่ 15 ก.ย. น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผย ว่า ที่ผ่านมาการประสานงานและบูรณาการในเรื่องการแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ทำให้การจัดการแก้ไขปัญหาและผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งถูกภัยคุกคามทั้งโดยธรรมชาติและโดยมนุษย์มีลักษณะเป็นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ตัวอย่างปัญหา เช่น กรณีการลักลอบขโมยปะการังจาน อายุกว่าห้าร้อยปี ได้รับแจ้งการเกิดเหตุแล้วไปตามแก้ไขซึ่งอาจไม่ทันการณ์ ติดตามผู้ลักลอบยากเพราะไม่มีเบาะแสเส้นทางการนำปะการังไปไหน

น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จึงตั้งศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ศอทช./ศปทช.) โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. เป็นประธานศอทช. มีนโยบายที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปในมิติของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่สำคัญต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการของหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการทำงานจะมีระเบียบปฏิบัติ มีขั้นตอน วิธีการ มีผู้รับผิดชอยทั้งหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานร่วมปฏิบัติ รวมถึงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เน้นการปฏิบัติการเชิงรับที่มีประสิทธิภาพ และเชิงรุกเพื่อลดและยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำผิด มีการร่วมกันฟื้นฟูและแก้ไขผลกระทบภายหลังจากเกิดภัยคุกคาม

อธิบดีทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดชายฝั่งทะเล มีจีดีพีประมาณร้อยละ 65 ของจีดีพีทั้งประเทศ ซึ่งผลประโยชน์ทางทะเลมีแทบทุกด้าน เช่น ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การขนส่งทางทะเลล้วนมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีแนวโน้มลดลง โดยที่การดูแลบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทางทะเลมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 89 ฉบับ ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบ 32 หน่วยงาน ดังนั้น การมีกลไก ศอทช. และ ศปทช. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงานจังหวัดชายฝั่ง 24 จังหวัด และพื้นที่ทะเลตั้งแต่แนวชายฝั่งจนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ จะมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน