ปลัด สธ. หนุน สสส.-องค์การสาธารณสุข เปิดตัวปีที่2 โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ชี้ 30 ปีที่ผ่านมา ไทยลดนักสูบได้ปีละ 3 หมื่นราย โครงการฯนี้ แค่ 1 ปี มีผู้สมัครเลิกสูบ 6 แสนคน ในจำนวนนี้เลิกสูบได้สำเร็จ 1 แสนคน สธ. ประกาศนโยบายเร่งรัดลดอัตราการสูบเข้มข้นขึ้น

วันที่ 23 พ.ย. 2560 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนนโยบาย โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน โดยเป็นปีที่สองในการขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ ซึ่งมีการชี้แจงแนวทางเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ ให้กับสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศไทย 878 คน และแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กรุงเทพฯ จำนวน 50 คนจากห้าสิบเขต พร้อมด้วยประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระดับเขต รวม 12 เขตทั่วประเทศไทย รวม 952 คน

โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า บุหรี่ก่อให้เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคหลายชนิดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนจำนวนมากทั้งประชากรไทยและประชากรโลก เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกกำหนดเป้าหมายการลดอัตราการสูบบุหรี่ทั่วโลกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติฉบับที่ 2 ครอบคลุมปี 2559-2562 โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการสูบบุหรี่ลงจากร้อยละ 19.9 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 16.7 ในปี 2562 คือต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านซึ่งโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ที่ สธ.ร่วมกับ สสส. เน้นการชวนและช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ในชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกแนวใหม่ ไม่ได้รอผู้สูบบุหรี่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ประเทศไทยมี อสม. และ อสส. กว่า 1 ล้านคน หาก อสม. หรือ อสส. 1 คน ชวนหรือช่วยให้คนสูบบุหรี่เลิกสูบได้ปีละ 1 คน จะได้คนเลิกสูบบุหรี่ 1 ล้านคนใน 1 ปี รวม 3 ปี ก็จะได้ 3 ล้านคนตามเป้าหมายโครงการ

“การดำเนินงานในปีแรกเป็นปีของการจัดระบบ สามารถชวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ 6 แสนคน มีผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จภายใต้โครงการ 1 แสนคน ถือว่าเป็นตัวเลขการเลิกสูบบุหรี่ที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมาในระยะเวลา 20-30 ปีที่ประเทศไทยสามารถทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้เฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 30,000 คน ซึ่งนับได้ว่าเป็นพัฒนาการที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามในปีที่ 2 และ 3 ของโครงการฯ นี้ สธ. จะเร่งรัดให้ อสม. 1 คน ชวนหรือช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ให้สำเร็จให้ได้ 3 – 5 คนต่อปี เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ได้” ปลัด สธ. กล่าว

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการควบคุมปัญหาและความสูญเสียจากการบริโภคยาสูบอย่างมากเพราะเป็นพันธกิจหลักของ

สสส. โดย สสส. สนับสนุนโครงการ ๓ ล้าน ๓ ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ในหลายมิติ ได้แก่ โดยสนับสนุนการดำเนินงานของสธ. ผ่านซึ่งกลไกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของระบบสาธารณสุขประเทศไทย คือ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธาน และมีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขาฯ สามารถระดมสรรพกำลังของภาคส่วนทุกภาคส่วนในพื้นที่มาร่วมทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับอำเภอ โอกาสที่จะชวนและช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จตามเป้าหมายจะมีสูงขึ้น และสนับสนุนภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการรณรงค์สร้างกระแสชวนคนเลิกสูบบุหรี่ทุกเดือน เช่น การเลิกสูบบุหรี่เพื่อลูกในวันเด็กเดือนมกราคม การเลิกสูบบุหรี่เพื่อคนที่เรารักในวันวาเลนไทน์เดือนกุมภาพันธ์ สสส. หวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การสูญเสียจากการบริโภคยาสูบในสังคมไทยลดลงอย่างแท้จริง

ศ. เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สมาพันธ์ฯจะช่วยขยายพันธมิตรการทำงานจากภาคส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมงานชวนคนเลิกสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด ได้แก่ ภาคีเอกชน และภาคีสื่อมวลชน ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญสมาคมฟุตบอลวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมโดยการจัดตั้งชมรมนักฟุตบอลปลอดบุหรี่ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนห่างไกลจากการสูบบุหรี่

นายประพัทธ์ ธรรมวงศา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการฯ นี้ทำให้บทบาทของงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชนมีความชัดเจนมาก เป็นความภาคภูมิใจของชาว อสม. และ หมออนามัยที่สามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพดีจากการเลิกสูบบุหรี่ ในปี 2561-1562 จะใช้กลไกคณะกรรมการ พชอ. ทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดจากควันบุหรี่ เพื่อให้นโยบายโครงการ ๓ ล้าน ๓ ปีฯ บรรลุเป้าหมายให้ได้

ทั้งนี้ สนใจข้อมูลหรือสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.quitforking.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน