อธิบดีพช.เยี่ยมชมต้นแบบความสำเร็จ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่” ขยายความสุขสู่ชุมชน

วันที่ 18ก.ย.64 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ไร่สุขพ่วงของนายอภิวรรษ สุขพ่วง

โดยมีนางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดราชบุรี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอจอมบึง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และภาคีเครือข่าย ให้การต้อนรับ ณ ไร่สุขพ่วง หมู่ที่ 10 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมน้องอภิวรรษ สุขพ่วง ณ ไร่สุขพ่วง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” รู้สึกภูมิใจที่เด็กรุ่นใหม่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังขยายความสุขให้กับคนอื่น โดยการใช้พื้นที่ 25 ไร่ ทำเป็นพื้นที่เรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร มีการดำเนินการแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน คือ การออกแบบพื้นที่ชีวิตโดยใช้หลักการออกแบบภูมิสังคม ภูมิสถาปัตย์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการทำการเกษตร แก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในชุมชน และปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมยามหน้าฝน โดยการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากเขตพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงได้มีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นพื้นที่สูงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชา และการปลูกป่า 5 ระดับ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่รับน้ำ ได้แก่ คลองไส้ไก่และบ่อน้ำขนาดใหญ่ 4 บ่อ เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี ส่วนที่ 2 พื้นที่ป่า ถูกจัดให้อยู่ในบริเวณพื้นที่สูงรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม โดยทำเป็นป่า 5 ระดับ ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่นาข้าว ทำหัวคันนาให้มีขนาดใหญ่สำหรับปลูกพืชผัก และบนหัวคันนายังมีกับข้าวไว้กินได้ตลอดปี ส่วนที่ 4 เป็นที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไร่สุขพ่วงได้เปิดเป็นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และที่สำคัญคือศูนย์เรียนรู้ที่นี่จะมีฐานเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าที่อื่นๆ ที่อยู่ในหลักสูตร ทั้งนี้เนื่องจากน้องอภิวรรษมีประสบการณ์จากการศึกษาอบรมและนำมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นบริเวณที่ปลูกต้นไผ่ เพื่อที่จะให้ต้นไผ่เป็นพืชอาหารและไม้ใช้สอย และในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้รากไผ่ไปเบียดเบียนต้นไม้อื่นๆ เช่น ต้นโกโก้ ผักกูดที่เป็นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณเดียวกัน ก็จะขุดร่องเพื่อให้ร่องนั้นเป็นหลุมทำให้เกิดปุ๋ยไผ่ สามารถนำปุ๋ยไผ่ไปใช้ประโยชน์ได้อีก และสิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือการทำเห็ดนางฟ้า ซึ่งสมัยก่อนที่เราเรียนรู้กันมา เห็ดนางฟ้าจะต้องใช้ขี้เลื่อย เศษวัสดุที่เป็นผงนำมานึ่งฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย ถึงจะใส่เชื้อซึ่งอันนั้นมีต้นทุนสูง แต่ที่ไร่สุขพ่วงได้ใช้ฟางข้าวนำมาแช่น้ำ 6-7 ชั่วโมง ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดได้ เป็นการประหยัดต้นทุน และที่สำคัญที่สุดคือฟางข้าวสามารถหาได้ทั่วไป อีกทั้งยังมีการปลูกพืชสวนครัวไว้ริมรั้วเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน อาทิเช่น ต้นหอม มะเขือ กุ้ยช่าย ผักสลัด มะละกอ เป็นต้น ซึ่งตรงกับความหมายของไร่สุขพ่วง หมายถึงมีความสุขทั่วกัน ไม่ใช่มีความสุขคนเดียว ยังขยายความสุขให้กับคนอื่นด้วย

ซึ่งนับเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อจะทำให้พี่น้องประชาชนมีทางรอดในการน้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญเราสามารถสร้างชุมชนให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งในเรื่องของการแบ่งปันความรู้ การแบ่งปันพืชอาหารต่างๆ ให้กับคนในชุมชน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยของเรารอดแน่นอนในวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถ้าหากประเทศไทยของเรามีต้นแบบอย่างน้องอภิวรรษ ขอให้พวกเราได้ช่วยกันขยายผลในการที่จะนำองค์ความรู้ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลแก่พี่น้องประชาชนตามแนวพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นายอภิวรรษ สุขพ่วง กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีแนวคิดที่ว่าการดำเนินชีวิตของคนเราจะกินแต่ข้าวอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ในการพัฒนาพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงได้คิดเปลี่ยนหัวคันนา และเปลี่ยนพื้นที่รอบบ้าน ให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก คนในบ้านชอบอะไรก็ปลูกอย่างนั้น โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการทำเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในชุมชน โดยมีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่ เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาตามฤดูกาล จากนั้นนำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นโคก เป็นพื้นที่สูงปลอดภัยจากน้ำท่วม ใช้สร้างที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ ยุ้งข้าว ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมแบ่งการปลูกต้นไม้เป็น 5 ระดับ เพื่อเป็นคลัง อาหาร เป็นไม้ใช้สอย เป็นป่าไม้ขนาดใหญ่ จนเกิดความร่มเย็น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพื้นี่ แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างมากมาย แต่ก็ได้พิสูจน์ให้ครอบครัวได้เห็นถึงความพยายาม พร้อมกับนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ และเริ่มมีความคิดที่อยากจะแบ่งปัน ให้คนอื่นได้สัมผัสกับความสุขในแบบเดียวกัน จึงตัดสินใจสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตรแบบยั่งยืน อนุญาตให้เกษตรกรเข้ามาดูตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำว่าเป็นอย่างไร ให้ดูว่าการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ ต้องทำอย่างไร เพื่อถ่ายทอดความรู้ และส่งต่อความสุขให้กับผู้มาเยือน ความสุขในครั้งนี้คือการได้กลับบ้าน โดยกลับไปพัฒนาไร่สุขพ่วงให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้อื่น เพื่อที่เหล่าเกษตรกรจะได้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน มีผลผลิตไว้กินไว้ขายได้ตลอดปี และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ พร้อมกับต่อยอดเส้นทางอาชีพนี้ได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้เปิดโอกาสให้ทางไร่สุขพ่วงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอด ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งมอบความสุขให้กับผู้อื่น

สำหรับท่านที่สนใจที่จะเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมบึง หรือสอบถามได้ที่น้องนายอภิวรรษ สุขพ่วง 70150 เบอร์โทรติดต่อ 089-379-8950, Email : [email protected], Line ID: raisukphoang

นอกจากไร่สุขพ่วงแล้วยังมีศูนย์เรียนรู้ที่พี่น้องประชาชนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบไปด้วย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) ศิษย์เก่าวิศวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีศูนย์เรียนรู้กระจายอยู่ทุกจังหวัดมากกว่า 50,000 แห่ง โดยท่านที่สนใจสามารถเข้าไปติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ หรือสามารถเข้าดูที่เว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน https://www.cdd.go.th/ หรือที่เพจ Facebook โคกหนองนาพัฒนาชุมชน https://www.facebook.com/โคก-หนอง-นา-พัฒนาชุมชน-102894165279031

#WorldSoilDay #GlobalSoilPartnership #UNFAO #CDD #SEPtoSDGs #SDGforAll@Kmitl #กรมการพัฒนาชุมชน #โคกหนองนา #โคกหนองนาพัฒนาชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน