เฟซบุ๊คเพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ลงผลสำรวจกวางผาในพื้นที่ดอยเชียงดาว ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5-7 ธ.ค. 2560 โดยมีผู้ร่วมสำรวจประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า คือ 1.สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ 2.เจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 3. เจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 40 นาย เข้าสำรวจกวางผาโดยวิธีการนับตัวโดยตรง จากจุดนับ 15 จุด กระจายทั่วดอยเชียงดาว ผลการตรวจนับพบกวางผาทั้งหมด 90 ตัว

 

ทั้งนี้ กวางผาเป็นสัตว์จำพวกแพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า 50 เซนติเมตร เพียงเล็กน้อย และมีน้ำหนักตัวประมาณ 30 กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทา มีแนวสีดำตามสันหลงไปจนจดหาง ด้านใต้ท้องสีจางกว่าด้านหลัง หางสั้นสีดำ เขาสีดำมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบโคนเขา และปลายเรียวโค้งไปทางด้านหลัง

ออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็น และตอนเช้ามืด หลับพักนอนตามพุ่มไม้ และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ กวางผาอยู่รวมกันเป็นฝูงๆละ 4-12 ตัว ผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ออกลูกครอกละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน

กวางผาจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า 1,000 เมตร ในประเทศไทยมีรายงานพบกวางผาตามภูเขาที่สูงชันในหลายบริเวณ เช่น ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยมือกาโด จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดตาก

โดย กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 19 ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา CITES จัดไว้ใน Appendix I อยู่ในสถานะใกล้ศูนย์พันธุ์ เนื่องจากการบุกรุกถางป่าที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในระยะเริ่มแรกและชาวบ้านในระยะหลัง ทำให้ที่อาศัยของกวางผาลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงตามยอดเขาที่สูงชัน ประกอบกับการล่ากวางผาเพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการสมานกระดูกที่หักเช่นเดียวกับเลียงผา จำนวนกวางผาในธรรมชาติจึงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก

 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน