โรงไฟฟ้าขยะ ไม่สามารถเดินหน้าได้ เจ้าของโครงการ เตรียมข้อกฎหมายเอาผิด

จนถึงตอนนี้โครงการศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังผลิตแห่งละ 30 เมกะวัตต์ ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ โดยเรื่องยังติดค้างอยู่ที่บรรดาหน่วยงานในกระทรวงพลังงานแม้หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องจะหารือไปหลายครั้ง แต่คำตอบกลับให้เป็นความรับผิดชอบของข้าราชการ 3 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)โทษกันไปมาอยู่สรุปใครควรต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

เนื่องจากโครงการนี้ควรจะเดินหน้ามานานหลายปีแล้ว เพราะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติตั้งแต่ 31 พฤษภาคม2560 ให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ( Feed-in Tariff ) จาก SPP แบบ Non-Firm กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ไว้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และ 2 โครงการนี้ยังอยู่ภายใต้แผน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นมานาน ทำภาคเอกชนเจ้าของโครงการหมดความอดทน เพราะนอกจากจะดองโครงการแล้ว ยังมีแนวทางทบทวนลด FiT ให้ต่ำกว่า 3.66 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 0.80 บาทต่อหน่วย ทั้งที่วัตถุประสงค์การกำหนด FiT ขึ้นมา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน

ขณะเดียวกันการปรับลด FiT ครั้งใหม่ยังเป็นการปรับกันเองของ 2 หน่วยงานหลักอย่างสนพ.และพพ.ขณะที่อัตรา FiT ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งรับรองโดยมติของกพช.นั้น ผ่านการศึกษาโดยหน่วยงานกลาง ซึ่งผู้จ้างศึกษาก็คือพพ.นั่นเอง

การที่เรื่องติดค้างอยู่ที่สนพ.และพพ.ก็ทำให้กกพ.ถือเป็นเหตุเรื่อยมาไม่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช และหนองแขมทั้งที่กพช.ให้กกพ. ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่มีมติเมื่อปี 2560

ตอนนี้เอกชนเจ้าของโครงการ ซึ่งได้รับผลกระทบ กำลังเดินหน้ายกข้อกฎหมายมาพิจารณาหาผู้รับผิด โดยเฉพาะกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

การที่เอกชนถึงขีดสุดของความอดทน เพราะไม่มีเหตุผลที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานจะขาดการบูรณาการทำงานขนาดนี้ และไม่มีเหตุผลที่หน่วยงานในกระทรวงพลังงานจะดองโครงการมาหลายปี จนสร้างความเสียหาย เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ,เป็นโครงการภายใต้วาระแห่งชาติเรื่องจัดการขยะ และยังเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศไทยประกาศต่อประชาคมโลก จะมีส่วนร่วมลดโลกร้อนกับนานาประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน