หลักสูตรช่างผลิตเครื่องดนตรีไทย มรภ.พระนคร สืบทอดความรู้จาก “ครูพญาปี่”

หากกล่าวถึงการบรรเลงวงดนตรีไทยโดยเฉพาะวงดนตรีประเภทวงปี่พาทย์แล้ว จะมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ประเภทต่างๆ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนประธานของวงและเป็นเครื่องนำในการบรรเลงทำนองลูกล้อลูกขัดอีกทั้งยังทำหน้าที่กำหนดบันไดเสียงของวงดนตรีด้วยจากความสำคัญดังกล่าวเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าจึงมีบทบาทต่อวัฒนธรรมดนตรีไทยทั้งทางด้านทฤษฏีและการปฏิบัติ มีลีลาทำนองและกลวิธีการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรี ซึ่งในปัจจุบันศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบรรเลงเครื่องเป่าไทยมีอยู่หลายท่านด้วยกัน แต่ในส่วนของช่างผลิตเครื่องเป่าไทยนั้นมีจำนวนที่น้อยกว่ามาก

ในอดีต วงการดนตรีไทยเคยมี “ครูเทียบ คงลายทอง”ซึ่งมีทั้งฝีมือปี่เป็นที่ยอมรับและฝีมือทางด้านช่าง กล่าวกันว่าฝีมือกลึงปี่ ตัดลิ้น และทำกำพวดปี่ของครูนั้นไม่มีใครสู้ได้ (ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

ดังนั้น องค์ความรู้เชิงช่างในการผลิตเครื่องเป่าไทยและเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นๆ จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีความสำคัญด้านหนึ่ง แสดงถึงอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองทางด้านดนตรีของชาติไทย แต่องค์ความรู้เหล่านี้มักจะอยู่ในตัวของครูช่างเป็นหลัก ซึ่งบุคคลทั่วไปจะสามารถรับทราบหรือชื่นชมองค์ความรู้ของครูช่างเหล่านี้ได้จากผลงานเครื่องดนตรีไทย อันทรงคุณค่าที่มีความสำคัญต่อการสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้ที่ได้รับฟังบทเพลงต่างๆ

ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีสถาบันอุดมศึกษาเพียงสองแห่งที่เปิดหลักสูตรการสร้างซ่อมเครื่องดนตรีไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เปิดสาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทย ในระดับ ปวช.และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเปิดสอนวิชาซ่อมสร้างเครื่องดนตรีไทยในสาขาวิชาดนตรีศึกษา เพื่อสานต่อภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดนตรีไทย

สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับช่างผลิตเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงและกำหนดบันไดเสียงในวงดนตรีมาตรฐานของไทยโดยมุ่งศึกษาวิธีการผลิต “ปี่ใน” เป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันการสูญหายหรือความบิดเบือนของข้อมูล โดยสร้างระบบการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาสู่ชนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน

วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ประวิทย์ ขาวปลื้มอาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ผู้บุกเบิกวิชาซ่อมสร้างเครื่องดนตรีไทย ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “สาขาวิชาดนตรีไทยที่ทำให้นักศึกษาจบไปแล้ว มีความสมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถ การซ่อมเครื่องดนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญ การเริ่มต้นซ่อมสร้างในวิชานี้ ง่ายๆ เช่นการทำหย่องหรือหมอนซอ การทำไม้ตีระนาด ทำไม้ฆ้อง ซ่อมจะเข้ เป็นต้น แต่นั่นยังเป็นเพียงการซ่อมแต่ไม่ได้สร้าง

การสร้างคือการที่มีชิ้นงานของตัวเองได้มีความเข้าใจ ความรู้และทักษะที่จะต่อยอดไปในเชิงช่าง รายวิชาซ่อมสร้างเครื่องดนตรีไทยนั้นจะทำให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรในสาขาวิชาดนตรีไทย มีความลึกซึ้งในด้านการสร้างเครื่องดนตรีไทยอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นและจุดเน้นในสาขาวิชาดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร”

“เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เราให้นักศึกษาได้ฝึกการสร้างนั้นก็คือ ขลุ่ย เพราะขลุ่ยจะเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างง่ายที่สุดในเครื่องดนตรีไทย แต่การสร้างขลุ่ยก็ไม่ได้ง่ายเพราะมีความละเอียดอ่อนมีความลึกซึ้งในหลายๆขั้นตอนในการสร้างแต่ที่ง่ายนั้นเป็นเพราะส่วนประกอบน้อยกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ถ้าทำเครื่องดนตรีอื่นจะต้องเสียของและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าจึงให้นักศึกษาฝึกทำขลุ่ยก่อนในการเริ่มฝึก เมื่อนักศึกษาสามารถสร้างขลุ่ยได้ด้วยตัวเองได้แล้วจะเกิดความภูมิใจ มีแรงบันดาลใจว่าสร้างแล้วสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างเครื่องดนตรีอื่นๆที่ตนเองสนใจ นำเอาไปจำหน่ายเพื่อหารายได้นำไปทำเป็นอาชีพเสริมกระผมเลยคิดว่าถ้าลองทำปี่ก็น่าจะทำได้เหมือนกันเลยพัฒนาไปทำปี่”

หลักสูตรสร้างเครื่องดนตรีไทยเริ่มต้นที่ “ปี่” กับครู “พญาปี่”

“เรามุ่งไปที่ปี่ เมื่อเปรียบเทียบในวงดนตรีไทย ปี่เปรียบเป็นประธาน ฉะนั้นเวลาขึ้นเพลง จะให้เกียรติปี่ก่อน ให้ปี่เป่าขึ้นก่อน และโชคดีของเราที่ได้จ่าเอก สุวรรณ ศาสนนันทร์ หรือ พญาปี่ปราชญ์ชุมชน จ.นนทบุรีเมื่อท่านออกจากราชการที่กองดุริยางค์ทหารเรือ เราได้เชิญท่านมาถ่ายทอดความรู้เรื่องเครื่องเป่า สอนเป่าปี่ เป่าขลุ่ยให้นักศึกษา เมื่อเราเปิดวิชาซ่อมสร้างเครื่องดนตรีไทย ท่านก็ช่วยสอนโดยให้ไปเรียนที่บ้านของท่านในอำเภอปากเกร็ด ซึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านก็มีข่าวที่น่าเสียใจว่าบ้านของท่านซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ดนตรีไทยประสบเหตุไฟไหม้ ตัวท่านเองก็ได้รับบาดเจ็บ นักศึกษาที่เรียนทำปี่กับครูนั้น ท่านสอนตั้งแต่เริ่มต้น จับมือทำจนสำเร็จ เด็กหลายคนสามารถที่จะทำปี่เหมือนของครูเลย ถ้ามองผิวเผินไม่ลงลึกจริงๆอาจคิดว่าเป็นของครูพญาปี่ ครูที่ทำปี่ หรือ ทำเครื่องดนตรี เขาจะมีตำหนิ ของครูทุกเสียงปี่จะใส ขึ้นอยู่กับไม้ ขึ้นอยู่กับกระสวนที่คว้านไปข้างใน ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคของการทำ แต่ว่าตำหนิที่ทำจะมีรอยเส้นลวดปิดไว้เป็นเส้นๆ บางทีจะมี3เส้นบางคนมี2เส้น หรือมีเส้นครึ่งก็แล้วแต่ของครูสุวรรณน่าจะมี5 เส้น”

ทำปี่ “ต้องมีใจรัก และพื้นฐานดนตรีไทย”

“นักศึกษาที่ฝึกทำปี่ ได้สอนจบไปแล้ว ประมาณ5-6รุ่น ที่ทำเครื่องดนตรีได้รุ่นแรกๆแม้กระทั่งผู้หญิง ถ้าเขาเรียนปี่ เขาก็สามารถสร้างปี่ได้ คนที่จะทำปี่ได้นั้นไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกคน ครูพญาปี่บอกไว้ว่าเรื่องแรกคือ ถ้าไม่มีใจรักที่จะทำสิ่งเหล่านี้ ให้ทำก็ไม่มีวันสำเร็จ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านดนตรีไทย จะเป็นส่วนช่วยอย่างมาก เพราะว่าเกี่ยวกับเรื่องของระบบเสียง ต้องรู้ว่าทดลองเป่าแล้วเสียงใช้ได้หรือไม่ ก็จะสามารถวัดได้ด้วยความชำนาญของนักดนตรี ดังนั้นคนที่จะทำปี่ก็ต้องเรียนเป่าให้ได้ เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ครูสุวรรณจะสอนการทำปี่ตามวิถีดั้งเดิม รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ว่าจะเรียนที่บ้านหรือเรียนที่นี่ ก็จะเป็นนัยยะว่าคนที่จะมาทำสิ่งเหล่านี้คนโบราณเขามักจะทดสอบ แล้วอีกอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างหายาก โบราณเขาหาไม้มาท่อนนึง ไม่ใช่ว่าเขาจะเอาเข้าเครื่องกลึงเลย อันดับแรกเขาใช้มือถาก ขวานถาก ครูเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนปี่เลาหนึ่งใช้มือทำทั้งหมดแต่เราก็ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน วันนี้ไม้สำหรับทำปี่หายาก ราคาแพง ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่มีไม้ เครื่องดนตรีไทยเราจะไปต่อยากเลยทดลองใช้วัสดุอื่นทำปี่เช่น เรซิ่นทำปี่ชวา ทำปี่ใน ปี่มอญ ขลุ่ย เครื่องเป่า ใช้เป็นวัสดุทดแทน ใช้ได้ครับ แต่เสียงจะไม่นวล สู้ไม้ไม่ได้

การสืบทอดส่งต่อความรู้จาก “ครูพญาปี่”

เราได้จัดเป็นคลิป รายงาน บันทึกการสอนมาโดยตลอด ผมจะทำบ้านหลังหนึ่งให้ครูอยู่ บอกได้ว่าถ้ามาที่นี่ก็จะเห็นท่านพญาปี่อยู่กับ ม.ราชภัฎพระนคร แม้ครูจะไม่อยู่ เด็กที่ท่านเคยสอน ลูกศิษย์หลายคน ก็คือรากแก้วของภูมิปัญญาไทย ตอนนี้เราแบ่งกลุ่มนักศึกษาไปเรียนกับลูกศิษย์ครูพญาปี่ 2-3 คน เนื่องจากต้องเรียนจากการปฏิบัติ โดยผมให้ทำปี่ 10 เลา จากไม้มงคล 10 อย่าง ถ้าเขาเรียนกัน 5 คน ก็ต้องทำคนละ 2 เลา ถ้าเขาเรียน 3 คน เขาก็ทำคนละ 3 เลา การที่เขาได้ทำปี่แบบจริงจัง เขาจะมีความรู้ ความสามารถทำได้จริง

สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นสะพานเชื่อมระหว่าง Generation

“การรักษารากแก้วของวัฒนธรรม ไม่มีทางที่จะไปด้วยกันได้ นับวันจะสูญหายไปตลอด หากดูจากกระแสในปัจจุบันสื่อโซเชียลแรงมาก ใครจะมานั่งฝึกฝน ใครจะมานั่งเรียนทำเครื่องดนตรี กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ในเวลานี้ การมีสถาบันช่างศิลป์ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือ “ธัชชา”เหมือนเป็นแรงผลักดันที่จะปลุกชีวิตงานช่างศิลป์หลายสิ่งหลายอย่าง โดย ม.ราชภัฎพระนครได้รับมอบหมายให้ทำโครงการการพัฒนาหลักสูตรช่างผลิตเครื่องดนตรีไทย(เครื่องเป่า) จ.นนทบุรี เราใช้พื้นที่การวิจัยจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีช่างผลิตเครื่องเป่าไทยที่มีความเชี่ยวชาญในระดับแตกฉานทั้งทางด้านการผลิตเครื่องดนตรีไทยและเป็นนักเป่าปี่ที่มีชื่อเสียงคนสำคัญ คือ จ.อ. สุวรรณ ศาสนนันท์ หรือ “พญาปี่” การศึกษาครั้งนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัฒนธรรมดนตรีไทยให้เกิดความเข้มแข็งอีกทั้งร่วมผลักดันให้ทุนทางวัฒนธรรมช่างผลิตเครื่องดนตรีไทยสามารถเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน พื้นถิ่น เมือง และประเทศ นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพอีกด้วย และขณะนี้เราได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ภูมิปัญญาดนตรีไทย ทั้งทางด้านศิลปะการบรรเลงดนตรีไทย และการผลิตเครื่องดนตรีไทยที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการเรียนการสอน รายวิชาการซ่อมและสร้างเครื่องดนตรีไทย เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลอง ได้ทำอย่างจริงจัง และเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในโครงการของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น

งานวิจัยครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานการศึกษาที่มีสาขาดนตรีหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจหลักสูตรที่จะนำไปเปิด ได้มีแนวทางพื้นฐานถึงกระบวนการในการที่จะทำปี่ เช่นปี่ที่ดีต้องทำจากไม้ชิงชัน การเลือกไม้ การทำลิ้นปี่จากใบตาล ทุกขั้นตอนมีรายละเอียด มีเทคนิคมากมาย

ในขณะเดียวกันผมมีข้อเสนอว่าถ้ากระทรวงศึกษาธิการ จะบรรจุหลักสูตรนี้เข้าไปในสถานศึกษาให้ทุกโรงเรียนต้องมีช่างศิลป์ 1ช่างอยู่ในโรงเรียน หรือ กำหนดให้สถาบันศึกษาที่มีการสอนดนตรีไทยทั้งหมดในประเทศไทย มีหลักสูตรช่างซ่อมสร้างเครื่องดนตรีเข้าไปด้วยเพื่อให้ดนตรีไทยยังดำรงอยู่ได้ และ ช่างซ่อม สร้างเครื่องดนตรีไทย ก็สามารถที่จะประกอบอาชีพนี้หาเลี้ยงตัวเองได้”

วันนี้องค์ความรู้ในการสร้างเครื่องดนตรีไทยที่อยู่ในตัวนักดนตรีไทย มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายไปพร้อมกับตัวบุคคล จึงเป็นความสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะต้องสืบสาน และต่อยอด เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาช่างศิลป์ท้องถิ่นให้มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นองค์ความรู้ที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน