มท.สืบสานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จัดกิจกรรม Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา พัฒนาศักยภาพช่างทอผ้าไทยให้มีผลงานที่หลากหลาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 12 พ.ค.65 ที่โรงแรมเจริญธานี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย จุดดำเนินการที่ 3 โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร. ศรินดา จามรมาน คุณรติรส จุลชาต กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์ คุณอดุลย์ เพลินจันทึก คุณภราดร บัวหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใย คุณนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นดีไซน์ คุณภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ รวม 60 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พวกเราคนไทยทุกคนได้ทราบโดยทั่วกันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา หรือที่พี่น้องช่างทอผ้า ผู้ประกอบการโอทอป จะขานพระนามลำลองว่า “พระองค์หญิง” หรือ “เจ้าหญิง” หรือ “เจ้าฟ้า” ด้วยความเคารพรัก ความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานโอกาสด้วยการทรงชุบชีวิตให้กับผ้าไทย ให้กับงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม เพื่อให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ OTOP ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่พระบรมราชวงศ์เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน

“นับตั้งแต่ปี 2547 ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องงานศิลปาชีพ อันมีจุดเริ่มต้นจากบ้านนาหว้า อำเภอนากว้า จังหวัดนครพนม มาส่งเสริมพัฒนากลุ่มชาวบ้านในทุกตำบล ขับเคลื่อนสู่ “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP)” โดยใช้ฝีไม้ลายมือสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ทั้งผ้าไทย และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่พวกเราทุกคนสืบสายโลหิตจากบรรพบุรุษ มาจำหน่ายสร้างรายได้ เลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งในแต่ละปีที่จัดงาน ยังไม่เคยมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จมาทรงเปิด การเสด็จฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เป็นเครื่องยืนยันอันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงยอมเสียสละเวลาและพระกำลังกาย มาทรงเป็นประธานเปิดงานให้กับชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเรา ทั้งยังทรงมีพระเมตตา พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทำให้เกิดขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการโอทอปทุกคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ด้วยเพราะน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงเอาพระทัยใส่ในชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเราทุกคน อันเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทรงทุ่มเท คิด ออกแบบ ลายผ้า แล้วนำมาพระราชทานให้กับพวกเราโดยไม่ได้ทราบมาก่อน โดย “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงออกแบบเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 และมีพระประสงค์ในการพระราชทานเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครพนม และทอดพระเนตรเห็นผ้าซิ่นที่ประชาชนสวมใส่มารับเสด็จที่มีความวิจิตรสวยงาม ทำให้ทรงเกิดแนวความคิดในการสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรที่อาชีพต้องพึ่งพิงกับสภาพอากาศ ถ้าฝนแล้งนาร้าง ฝนหนักนาล่ม โดยพระราชทานแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมยุยงและกระตุ้นทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทอผ้าเพื่อที่จะขายให้พระองค์ท่านก่อน และทรงอุทิศพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อผ้าของชาวบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากในการที่จะช่วยกันทอผ้า เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น นำไปสู่การจัดตั้งโครงการศิลปาชีพ เมื่อปี 2515 ถือเป็นโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแห่งแรก และพระราชทานพระราชวโรกาสให้กลุ่มช่างทอผ้าในทุกภูมิภาค ทุกจังหวัดได้เข้าเฝ้าฯ ทุกครั้งที่เสด็จแปรพระราชฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ โดยจะปรากฏภาพที่พวกเราคุ้นเคย นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงซึมซับพระราชกรณียกิจกระทั่งกลายเป็นพระปณิธานอันแน่วแน่ในการรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษเพื่อต่อลมหายใจหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย จึงทรงเลือกเรียนเลือกศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนทรงสำเร็จการศึกษา และศึกษาต่อในด้านแฟชั่นดีไซน์ในต่างประเทศ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงพยากรณ์อนาคตของแฟชั่นได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จึงทรงนำองค์ความรู้มาทุ่มเทถ่ายทอด แนะนำ ให้กับพี่น้องผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า และพระราชทานผ่านหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK โดยทรงรับเป็นบรรณาธิการ และได้จัดพิมพ์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

“ภายหลังจากความเงียบสงัดในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ด้วยเพราะกระแสการแต่งกายจากต่างชาติเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ภาพที่ติดตา คือ พระองค์ประทับนั่งบนกี่ทอผ้า และพระราชทานลายผ้าให้กับอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ซึ่งแวดล้อมไปด้วยพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP ในอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี อันเปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ตั้งแต่หลังวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เกิดเสียงดังที่ใต้ถุนบ้านทุกหลังในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน นั่นคือเสียงกี่ที่กระทบกันเพื่อทอผ้าลายพระราชทานกันตลอดทั้งวันทั้งคืน ซึ่งทันทีที่มีลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และทรงโปรดให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้กลุ่มช่างทอผ้าทุกกลุ่มสามารถนำไปใช้ได้ทุกเทคนิค ประยุกต์ดัดแปลงเข้ากับอัตลักษณ์ของชุมชนได้ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์คนเข้าคิวรอซื้อ เพราะใคร ๆ ก็อยากสวมใส่ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ในหลายหมู่บ้าน ยังทอไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ นับเป็นลายผ้าที่ต่อลมหายใจให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทุกคนได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เป็นการสานต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทุกคนที่มาร่วมอบรมในวันนี้จะได้มีโอกาสในการสนองแนวพระดำริและเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนต้องช่วยกันเปิดใจให้กว้างว่าความรู้ทั้งหลายในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันหมดสิ้น และความรู้ทั้งหลายที่เพิ่มพูนขึ้นมาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ ถ้าสามารถหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ก็จะเป็นเรื่องดีกับชีวิต เหมือนดังที่พระองค์ท่านได้ทรงทำให้เป็นตัวอย่างใน 3 ประการ ได้แก่ 1) ลวดลาย “ลายผ้าโบราณ” สามารถนำมาต่อยอดเป็นลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยยึดแนวทางเราต้องเคารพในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คำนึงถึงรสนิยมผู้บริโภค และใส่หัวใจ ความรัก ความชอบ เข้าไปในชิ้นงานของเรา และลงมือทำ เมื่อชิ้นงานออกมาแล้ว ไม่มีล้มเหลว มีแต่เพียงคนจะชอบมาก ชอบน้อย และต้องไม่หยุดนิ่ง ด้วยการหาโอกาสพินิจพิจารณา พูดคุยกับวัยรุ่นสมัยใหม่ในการหาลวดลายที่เป็นแฟชั่น เป็นที่นิยม เพื่อที่จะพัฒนาชิ้นงานให้มีความหลากหลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น 2) ทรงเน้นให้คำนึงถึงความยั่งยืน โดยการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า ไม่ใช่สีเคมีที่ส่งผลทำให้น้ำเน่า ดินเสีย ดินเป็นพิษ มือคนย้อมก็พัง สุขภาพคนผลิตและคนสวมใส่ก็ไม่ดี และต้องมีวัตถุดิบที่ใช้ในการทำผ้า ทั้งต้องปลูกฝ้ายเป็น ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติเป็น ไม่ใช่ตัดอย่างเดียว ต้องปลูกด้วย เพื่อให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ครบวงจร และ 3) งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม จะเป็นหนึ่งได้ ต้องมีการประกวดประขัน โดยทรงเจริญรอยตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการประกวดลายผ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้น การพัฒนา เมื่อมีการประกวด ก็จะมีการโค้ชชิ่ง ที่ทุกคนต้องเปิดใจให้กว้าง รับสิ่งที่ดี และรวมพลังของสมาชิกในกลุ่มในชุมชนช่วยกันคิดสร้างสรรค์ลวดลายผ้า ดังแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย”

“ความปรารถนาดีจากพระองค์ท่านยังไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะปลายน้ำ คือ “การส่งเสริมการขาย (Marketing)” พระองค์ได้พระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ครอบคลุมกระบวนการผลิตครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ “กลางน้ำ” ด้วยการรวมกลุ่มผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า และ “ปลายน้ำ” ทรงเชื้อเชิญนักออกแบบรุ่นใหม่ (Designer) และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย เช่น หมู-อาซาว่า อู๋-วิชระวิชญ์ โจ-ธนันท์รัฐ เพื่อให้พวกเราได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้ครุ่นคิด สร้างสรรค์ชิ้นงาน ให้มีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสไตล์ ทุกโอกาส เพื่อเกิดไอเดียไปขยายฐานลูกค้า ทำให้ตลาดผ้าไทยโกอินเตอร์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพระอัจฉริยภาพที่พระองค์ได้พระราชทานให้กับพวกเรา และทำให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีแนวทางในการมาช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและช่างทอผ้าทั่วประเทศ ดังนั้น ขอให้พวกเราได้ตั้งอกตั้งใจ และพึงระลึกเสมอว่าทุกครั้งทุกลมหายใจ ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะหลับ จะตื่น ขอให้นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเป็นประดุจดั่งหยาดน้ำทิพย์หล่นลงมากลางทะเลทราย ให้พวกเราได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และขอให้พวกเราได้ช่วยกันทำให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนตามพระราชประสงค์ ด้วยการตักตวงเอาความรู้กลับไปพัฒนากลุ่มของพวกเราให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งขอให้ข้าราชการทุกคน ทั้งในส่วนกลาง และในทุกจังหวัดได้ช่วยกันเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ ลงไปคลุกคลีตีโมงเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องผู้ประกอบการ และช่างทอผ้า ได้มีกำลังใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริและพระดำริ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว ลูกหลาน อันจะยังผลทำให้ประเทศชาติของพวกเราได้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน