ปลัดมท.เทรนนิ่ง “นักยุทธศาสตร์จังหวัดทั่วประเทศ” ขับเคลื่อนงาน กรอ. จังหวัด/กลุ่มจังหวัด ย้ำ ต้องทำด้วยใจ ให้ความสำคัญกับ การบูรณาการงานและร่วมมือกับ กรอ. และภาคีเครือข่าย พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและจังหวัด เพื่อ Change for Good พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 18 พ.ค.65 ที่โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจภาค/กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ประจำปี 2565 ระดับผู้ปฏิบัติงาน และปาฐกถาพิเศษ “กลไก กรอ. กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน” โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ผู้แทนหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ “กรอ.” เป็นกลไกที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งจังหวัดในฐานะภาคราชการต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย “ภาคราชการ” อันหมายความรวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่าง ๆ ภาคธุรกิจเอกชน ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริษัท ห้าง ร้าน ฯลฯ “ภาควิชาการ” ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน “ภาคผู้นำศาสนา” ทั้งพระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม บาทหลวง และผู้นำศาสนาต่าง ๆ “ภาคประชาสังคม” คือ NGO ในพื้นที่ “ภาคประชาชน” คือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และ “ภาคสื่อมวลชน” ที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารข้อมูล นำเสนอข่าวสารที่ได้รับจากภาคราชการและทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านกลไก กรอ. เพื่อประสานพลังผู้นำทางสังคมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจับมือร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด ด้วยการจัดการประชุมและเข้าร่วมการประชุม กรอ. อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง และต้องให้ความสำคัญกับ “การสื่อสารกับสังคม” ที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ทั้งงานสังคม งานประชุม งานบุญ งานวัด ตามประเพณี ที่จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีโอกาสพบปะผู้คนและได้พูดคุย รวมทั้งได้รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ โดยการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะสามารถอธิบายคำตอบได้ ทั้งนี้ สำนักงานจังหวัด โดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ในฐานะฝ่ายเสนาธิการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลงพื้นที่เพื่อติดตามสอดส่องดูแลพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อได้รับรู้ รับทราบปัญหา หาแนวทางแก้ไข เพื่อสื่อสารให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ รับทราบ เข้าใจ และร่วมมือกับจังหวัดและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านต่าง ๆ

“การสื่อสารกับสังคมเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะภาคราชการ จะต้องทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการผ่านกลไกภาคีเครือข่ายที่ 7 คือภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเจ้าของเนื้อหา (Content) ต้องจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่เข้าใจง่าย และมีความถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน ส่งให้กับสื่อมวลชน เพื่อสามารถสื่อสารข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชนผู้รับสารได้อย่างตรงไปตรงมา น่าสนใจ นอกจากนี้ การทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน ไม่จำเพาะว่าต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น ตัวของพวกเราทุกคนเองก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ไม่ใช่เป็นเพียงคนส่งข่าว ด้วยการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่กับตัวเอง เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถบันทึกภาพ เสียง วิดีโอ และตัดต่อเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook Twitter Instagram TikTok Line ส่วนตัว และของหน่วยงาน รวมไปถึงเครื่องมือพื้นฐานในการสื่อสารในพื้นที่ เช่น หอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชน และเสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นรากฐานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงแรก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ในโลกของการทำงานยุคใหม่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “การบูรณาการ” ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “บวร” อันได้แก่ บ้าน ราชการ และศาสนา ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ มีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวง กรมต่าง ๆ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงาน เป้าหมายของงาน และจุดมุ่งหมายของงาน ซึ่งเมื่อทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันเสมือนเป็น “คณะรัฐมนตรีในพื้นที่” ไม่ทำงานแบบแยกส่วน หรือไซโล ก็จะส่งผลช่วยลดเวลาในการเดินไปถึงเส้นชัยของเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่เรากำหนดไว้ เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ มีพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด คลังจังหวัด พลังงานจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด โดยมีเวทีสำคัญทางเศรษฐกิจทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจในพื้นที่ คือ “กรอ.” ช่วยในการเสนอแนะแนวทาง การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

“หน้าที่ที่สำคัญของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ดีที่เราอยากให้ทำหรืออยากให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น” เพื่อ Change for Good ให้กับสังคม ดังนั้น “จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน” ที่ต้องเป็นเสนาธิการสนับสนุนงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด อย่าทำงานเป็นทาส หรือ ทำงานตามสั่ง เพราะพวกเราคือข้าราชการที่มีอุดมการณ์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องเป็น Catalyst หรือเป็นตัวเร่งให้เกิดสิ่งที่ดี เป็นที่พึ่งให้กับสังคมทุกด้าน ทั้งในด้านการส่งเสริมเวทีขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยกลไก กรอ. รวมถึงการส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ อันได้แก่ การรณรงค์ส่งเสริมให้มีการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ทุกเวลา และทำให้คนทุกวัยสามารถสวมใส่ไปประกอบกิจกรรม การงาน หรือท่องเที่ยว ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการอธิบายและปฏิบัติเป็นแบบอย่างกับพี่น้องประชาชนผ่านการ “สวมใส่ผ้าไทย” ซึ่งถือเป็นการเสริมเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดอย่างชัดเจน เพราะ “ผ้าไทย” เป็นผ้าที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและมือสองมือของชาวบ้านในจังหวัดนั้น ๆ ทั้งการปลูกหม่อน เลี้ยงไพร สาวไหม ถัก ทอ ตัดเย็บ ถ้าผ้าไทยในพื้นที่ขายดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจฐานรากก็จะมั่นคง รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว ตามโครงการพระราชดำริสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน และการดำเนินการบำรุงและจัดทำเรื่องราวความเป็นมาของศาสนสถานและสถานที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของทุกจังหวัด ให้เป็นสถานที่แห่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ อันจะส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายเงินเกิดการหมุนเวียน กระจายรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการสำคัญถัดมาซึ่งเป็ยนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนและได้รับความสนใจจากสังคมอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไก ศจพ. โดยเน้นย้ำนิยามคำว่า “ความยากจน” หมายถึง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกประเภทที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น มีลูกหลานติดยาเสพติด ที่หน่วยงานทั้งสาธารณสุข ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ก็ต้องไปทำให้เขาได้เข้าสู่ระบบการรักษา หรือแม้แต่เรื่อง “หนี้นอกระบบ” ที่พ่อค้าแม่ค้าถูกขู่เข็ญ เอาเปรียบ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยทุกคนต้องลงไปบูรณาการทุกหน่วยงานค้นหา ช่วยเหลือ โดยมีนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ เป็นแม่ทัพที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ เพื่อ Change for Good ให้ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง และทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 นอกจากนี้ สำนักงานจังหวัด ในฐานะเสนาธิการของผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจเอกชในพื้นที่ ทั้ง กรอ. บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคมจังหวัด ผู้ประกอบการ OTOP กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนการออม ห้าง ร้านต่าง ๆ ในฐานะที่กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงหลักที่จะดูแลพื้นที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นว่า “เราเป็นที่พึ่งของสังคมได้” ด้วยความฮึกเหิม ตั้งมั่น อดทน ในการที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนโดยกลไก กรอ. ซึ่งสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะดีได้ “อยู่ในมือพวกเราข้าราชการและภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ดีให้กับองค์กรและประเทศชาติของเรา”

“ที่ผ่านมาความสำเร็จของงานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยตลอดระยะเวลา 130 ปี ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 131 กว่าร้อยละ 80 อยู่ที่ “มดงาน” ที่เป็นผู้บริหารระดับกลางและผู้ปฏิบัติ มิใช่อยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น การสัมมนาในครั้งนี้ จะทำให้พวกเราทุกคนมีไฟในการกลับไปเผาไหม้เชื้อเพลิงที่จังหวัด นั่นคือ “เพื่อนร่วมงาน” ในการประสานความสัมพันธ์ผสานความร่วมมือทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำ ต้องทำด้วยใจ ให้ความสำคัญกับ การบูรณาการงานและร่วมมือกับ กรอ. และภาคีเครือข่าย พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจจังหวัดให้เกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน