รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ ลุยแก้วิกฤตโลกร้อน เปิดกิจกรรม “เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดวิกฤตโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ” ส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดวิกฤตโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ”

โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี จัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 350 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดเพียงทางเดียวที่เราจะรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ โลกวันนี้ ถ้าไม่มีมนุษย์ โลกอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีโลก มนุษย์ย่อมอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันก่อน ปัญหาอื่นๆ ก็คงไม่ต้องพูดถึง

ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ปัญหาทางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัญหาป่าไม้ ทั้งเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้แต่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ของพี่น้องประชาชนด้วย ทั้งหมดล้วนแต่เป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน

“ทส. ได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT – LEDS และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อีกทั้งพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต โดยจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดคาร์บอนในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อการขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565

รวมถึงการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีความพร้อมดำเนินการ ในปี 2565 ประมาณ 6 แสนไร่ และเร่งศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS

“พร้อมกันนี้ ได้มีการลงนาม MOU ต่อเนื่อง ซื้อ – ขาย “คาร์บอนเครดิต” ระหว่างประเทศกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายระหว่างประเทศต่อประเทศ ภายใต้ข้อตกลง Paris Agreement Article 6.2 เป็นคู่แรกของโลกที่เซ็นสัญญาระหว่างประเทศ ช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ มีการแลกเปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเงินทุน

ในทางกลับกันประเทศไทยจะมีการแลก “คาร์บอนเครดิต” กับทางสวิตเซอร์แลนด์ ตามเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ภายใต้ข้อตกลงปารีสคือ เมื่อแลกคาร์บอนเครดิตแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาเป็นเทคโนโลยี หรือเงินลงทุน ซึ่งมากกว่าปริมาณคาร์บอน ที่เราปลดปล่อย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดข้อตกลงขึ้น ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวลว่า หากเราขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วจะขาดทุน เพราะสิ่งที่ได้กลับมานั้นมากกว่า” นายวราวุธ กล่าว

ด้าน นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดวิกฤตโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการในเขตอำเภอบางปลาม้า ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคประชาชน ชุมชน เยาวชน นักเรียนนักศึกษา ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดปัญหาโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ

ตลอดจนเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง การคัดแยกขยะที่ถูกต้อง โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ

ประกอบด้วย พิธีส่งมอบโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ผู้พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนที่ผ่านโครงการผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Youth Camp) การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัด ทส. จาก 13 หน่วยงาน และกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน