วันที่ 19 ส.ค. ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม “ดร.ณัฎฐ์” อาจารย์กฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีการปิดประชุมรัฐสภาเนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่า การเข้าร่วมประชุม เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติ ในระบบรัฐสภาที่เปิดช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเข้าร่วมประชุมพิจารณาตรากฎหมายดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเข้าร่วมประชุม ถือว่า เป็นดุลพินิจของสมาชิกรัฐสภา เหมือนกับระบบรัฐสภาของอังกฤษ ไม่ต่างกัน ให้ถือตาม”มติองค์ประชุม” และ”เสียงข้างมาก” ถือว่าเป็นกลไกของระบบรัฐสภา กรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร..เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูกตามช่องทางรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 131 และต้องดำเนินการตามมาตรา 132 คือ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลามาตรา 132(1) ให้กลับไปใช้ร่างเดิม วันนี้ ครบ 180 วันรัฐธรรมนูญมาตรา 132(1) ให้กลับไปใช้ร่าง ตามมาตรา 131 (1) ร่างเดิม รัฐสภามีมติเห็นชอบโดยปริยาย คือ ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า สูตรหาร 100 ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของ กกต.ผ่านสภาโดยปริยาย ส่วนสูตร หาร 500 ร่างดังกล่าวย่อมตกไป

เมื่อถามว่า กระบวนการจากนี้ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และต้องปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา 132(2) ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปยังองค์กรอิสระ คือ “กกต.”เพื่อให้ความเห็น หากไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา 81 ในกรณี “กกต.”องค์กรอิสระ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือทำให้ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ มาตรา 132(3) เปิดช่องให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในสามสิบวัน ในการนี้ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของ “กกต.”องค์กรอิสระได้ ตามที่เห็นสมควร และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ดำเนินการช่องทางมาตรา 81 วรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางอื่นให้สูตรหาร 500 ฟื้นคืนชีพหรือไม่ ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้กระทำเช่นเดียวกับ”พระราชบัญญัติ”ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 โดยเปิดช่องว่างกฎหมายให้ มาตรา 81 วรรคสอง อยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 145 คือ เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี”รอ”ไว้ห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่วงจากรัฐสภา หากไม่มีกรณีดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ซึ่งช่วงระยะเวลา 5 วันที่ร่างมาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สูตรหาร 100) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148(1) แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้แก่นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า หรืออีกช่องทางหนึ่ง ตามมาตรา 148(2) หากนายกรัฐมนตรี เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฏรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้ ตรงนี้ เป็นกลไกในระบบรัฐสภาตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยถ่วงดุลตรวจสอบตามนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม “ดร.ณัฎฐ์” เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน จบเนติบัณฑิตไทย (นบท.) สมัย 57 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน(DJA.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาเอกนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต(LL.D)(กฎหมายมหาชน) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการเมือง(Ph.D.Politics) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน(ปรม.12) ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับผู้บริหารระดับสูง(ปศส.13) สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง รุ่น 5 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช รวมทั้ง หลักสูตรเนติบัณฑิตทางปกครอง กศป.รุ่น 11 มูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง สำนักงานศาลปกครอง ทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง มีประสบการณ์ทางการเมืองและให้ความเห็นมุมมองกฎหมายมหาชน และให้ความรู้แก่ประชาชนทางกฎหมายบ่อยครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน