เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่กระทรวงการต่างประเทศ มีการจัดประชุมความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: จากอดีตสู่อนาคต โดยมีผู้แทนนักการทูตของสถานทูตประเทศต่างๆ ในประเทศไทยและองค์กรนานาชาติอื่นๆ ได้แก่ ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เข้าร่วมประชุม

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ของไทย แม้ไทยจะสามารถทำระบบหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จ แต่ยังมีความท้าทายที่เราต้องจัดการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรที่เพียงพอ การยืนยันเรื่องความถ้วนหน้า ความยั่งยืนของระบบ ซึ่งพวกเราต้องทบทวนสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเพื่อการมองไปในอนาคตร่วมกัน

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกผลักดันเรื่อง health for all หรือสุขภาพเพื่อทุกคน ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ องค์การอนามัยโลกจึงได้ท้าทายให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการเพื่อทำความฝันการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อประชาชนของแต่ละประเทศให้เป็นจริง ซึ่งเห็นความก้าวหน้าของแต่ละประเทศมาเป็นลำดับ เช่น ประเทศเคนยา มาดากัสการ์ อินเดีย และเพื่อช่วยให้ทุกประเทศบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า องค์การอนามัยโลกมองไปที่ประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ดี และสามารถถอดบทเรียนเพื่อให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องนี้

ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวต่อว่า ผลสำเร็จของไทยเป็นสักขีพยานว่า ประเทศทุกระดับรายได้สามารถทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ประสบการณ์ตรงนี้ของไทยถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า ความเชี่ยวชาญที่ไทยมี จะเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งตนได้เห็นระบบอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ หมอครอบครัว ที่เปลี่ยนผู้ป่วยจากติดเตียงสามารถลุกขึ้นมาเดินได้ มีระบบบริการที่บ้านโดยการล้างไตช่องท้องที่ผู้ป่วยและญาติผ่านการอบรมโดยหมอและพยาบาล

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง และการให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณด้านนี้เป็นลำดับแรกเป็นสิ่งสำคัญ ผลสำเร็จของประเทศไทยบอกได้ว่าไม่ต้องเป็นประเทศรวย แต่ประเทศนี้ก็จัดสรรงบเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนไทยได้ เรายินดีที่ไทยพร้อมเป็นตัวอย่างการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศอื่น และองค์การอนามัยโลกพร้อมหนุนเสริมในด้านความรู้ เราพึ่งพาให้ไทยมีบทบาทนำในเรื่องเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นประจักษ์ชัดเจนว่า หลักประกันสุขภาพไม่ใช่ความฝัน ทุกประเทศทำให้เป็นจริงได้ ตัวอย่างของไทยบอกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจริงได้” ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน