วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ ถึง “สืบ นาคะเสถียร” ว่า ในวันแรกที่ สืบ นาคะเสถียร เริ่มทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 เขาจับไม้เถื่อนถึงกว่าสองร้อยท่อน การทำลายป่ามีมากกว่าการตัดไม้ มีทั้งการรุกล้ำ เผาป่า ตัดไม้ และการล่าสัตว์อย่างเป็นระบบ

นักล่าสัตว์มีสามประเภท หนึ่งคือมืออาชีพ ใช้รถยนต์หรือช้างเป็นพาหนะ หนึ่งคือนักล่าสมัครเล่น เป็นพวกมีเงิน ใช้อาวุธราคาแพง ล่าเพื่อสนองตัณหาของตัวเอง อีกหนึ่งคือกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ป่า ชาวบ้านในหมู่บ้านสิบกว่าแห่งในเขตป่าสงวนฯล้วนอพยพมาจากที่อื่น บุกรุกป่าสงวนเอาไว้ทำไร่ ทว่ารายได้หลักมาจากการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าขาย

การล่าสัตว์ป่าก็ทำอย่างเป็นระบบ มีนายทุนเข้ามารับซื้อ ‘สินค้า’ ถึงในหมู่บ้าน จัดหาปืนและกระสุนให้ชาวบ้าน โดยมีใบสั่งล่วงหน้าและให้ราคาสูง เช่น เขากระทิง 4,000-5,000 บาท เนื้อกิโลกรัมละ 70 บาท เป็นต้น

สืบ นาคะเสถียร เล่าว่า “…มีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซาก… โดนจับถูกปรับแค่ห้าร้อยบาท คุกก็ไม่ติด…” การจับกุมไม่ประสบผลเพราะต้องขอหมายจับจากตำรวจท้องที่ก่อน เพราะผู้บงการชาวบ้านให้ไปตัดไม้คือนายทุนซึ่งมีเงินและเส้นสาย ไม่นานนักเขาก็รู้ว่าตนเองมีค่าหัวหกพันบาท โทษฐานต่อต้านขบวนการค้าไม้เถื่อนและสัตว์ป่า

มองโลกในแง่ดี ค่าหัวของเขาสูงกว่าเขากระทิงเล็กน้อย ! การรักษาป่าพื้นที่กว้างขวางกว่าหนึ่งล้านไร่ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 30 คน ลูกจ้างชั่วคราว 120 คนเป็นเรื่องที่ยากเย็น มิพักเอ่ยถึงค่าดูแลไร่ละไม่ถึงหนึ่งบาทต่อปี !

สืบ นาคะเสถียร ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาป่าและสรรพชีวิตในป่า ภาพการช่วยชีวิตกวางตัวหนึ่งด้วยการปั๊มหัวใจ การช่วยงูจงอางขนาดใหญ่ที่กำลังจมน้ำโดยไม่หวั่นเกรงอันตราย เหล่านี้เป็นภาพที่ติดตาตรึงใจคนที่เคยทำงานกับเขา

ปัญหาประดังเข้ามาทุกวัน งบประมาณน้อย จิตวิญญาณคนรักป่าน้อย อาวุธไร้คุณภาพ อาวุธประจำตัวของคนรักษาป่าคือปืนลูกซองห้านัด ระยะยิงหวังผลเพียงเก้าเมตร ขณะที่นักล่าสัตว์ใช้ปืน เอ็ม. 16 เพียบพร้อมด้วยวิทยุสื่อสารและรถยนต์ที่สมบุกสมบันในป่าได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาป่าไม่มี

เจ้าหน้าที่รักษาป่าถูกลอบยิงตาย ตายแล้วก็ตายไป แต่ไม่เกินวันผู้คนก็ลืม ช่วงเวลานั้น เขาออกแรงกายแรงใจประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนในประเทศรู้จักคุณค่าของการรักษาป่า และเข้าใจบทบาทอันยากเข็ญและไร้การดูแลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้

แต่เสียงของเขาเบาเกินไป เขาจึงร่วมกับนักวิจัยชาวอังกฤษรวบรวมข้อมูลและเขียนเอกสารเกี่ยวกับป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง เสนอให้ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เพราะเชื่อว่ามันเป็นหนทางเดียวที่จะรักษาชีวิตของป่าโดยใช้แรงกดดันจากนานาชาติ เขายังเสนอว่า ปัญหาการอนุรักษ์ป่าจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้าน

“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถเรียกร้อง ไม่มีอำนาจ เขาอยู่กับธรรมชาติ ป่าไม้ เขาควรได้ใช้ประโยชน์จากป่า พวกนี้รักป่าอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่าป่าจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย หากคนของรัฐเข้าใจปัญหานี้ แล้วกำหนดนโยบายออกมาเพื่อคนกลุ่มนี้บ้าง ปัญหาก็จะหมดไป” ไม่มีใครสนใจแนวคิดของเขา เขาบอกกับคนใกล้ชิดอย่างขมขื่นว่า “ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีก”

สืบ นาคะเสถียร เลือกจบชีวิตตัวเองในรุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 การฆ่าตัวตายมิใช่หนทางที่น่าเลือกของใครแน่นอน ทว่าในกรณีของเขา การฆ่าตัวตายเป็นการส่งเสียงสุดท้ายให้โลกได้ยิน ความจริงคือเรามักเห็นคุณค่าของคนคนหนึ่งเมื่อสูญเสียเขาไป คนเหล่านี้พลีชีวิตเพื่อปกป้องสังคม

คำขอร้องของพวกเขามิใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อโลกทั้งใบ แล้วเราก็ลืมคนประเภทนี้ไปอย่างรวดเร็ว ยี่สิบปีหลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร ภาพสายน้ำไหลท่วมบ้านเรือนแผ่กว้างไปหลายจังหวัดในภาคอีสานตามมาด้วยภาคใต้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นภาพที่น่าเห็นใจระคนเศร้าใจ

แต่ภาพคนไทยทั้งแผ่นดินยื่นมือเข้าช่วยเหลือประชาชนซึ่งเดือดร้อนจากอุทกภัยเป็นสิ่งที่น่าตื้นตันใจ แต่มันก็คงเป็นเช่นภาพภัยธรรมชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วม ซึ่งผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่นานผู้คนก็ลืม

อุทกภัยร้ายแรงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาด เราเคยมีการศึกษาในเรื่องผลกระทบของ ‘ความเจริญ’ ต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ มีหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม ในกรณีภาคอีสาน การสร้างโรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร การตัดถนนสายใหม่ ๆ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้

รีสอร์ทและสนามกอล์ฟหลายแห่งซึ่งสร้างบนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ กีดขวางทางไหลของน้ำ การขยายถนนมิตรภาพจากสี่เลนเป็นสิบเลนลดทางไหลของน้ำ คลองหลายสายซึ่งเดิมเป็นทางไหลของน้ำหลีกทางให้ความเจริญ

ทั้งยังมีหมู่บ้านจัดสรรอีกจำนวนมากซึ่งวางผิดที่ ทำให้เหลือทางน้ำไหลน้อยนิด กอปรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกทำให้บางช่วงฝนแล้งจัด บางช่วงฝนก็มากเกินไป เหล่านี้ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน

ข้อดีของชาวไทยคือเราไม่ทิ้งกันยามยาก ข้อเสียคือเราเกือบทั้งประเทศเป็นโรคอัลไซเมอร์อ่อน ๆ เราไม่ชอบจำอะไรเป็นบทเรียน เรามีนิสัยแก้ปัญหาเป็นครั้ง ๆ ไป เรายินดีทุ่มเงิน กำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังใจเพื่อแก้วิกฤติไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงไร

แต่ไม่ค่อยยอมใช้ทรัพยากรในการวิเคราะห์ปัญหาและป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก บางทีสายน้ำที่โถมท่วมไม่ว่าหนักแค่ไหนก็ไม่ร้ายแรงเท่าสายน้ำแห่งความไม่รู้ ความขี้ลืม ความไม่แยแส

ความไม่รู้เป็นอันตราย หากรวมความขี้ลืมเข้าไปด้วย ก็ยิ่งอันตราย การไม่แยแสต่อเรื่องหนึ่ง ๆ กระทบสู่คนอื่น และกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่ จนบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ เราชอบพูดกันว่า “ธรรมชาติแปรปรวน” หรือ “เดี๋ยวนี้ธรรมชาติมันวิปริต” ธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลง แต่ความจริงคือธรรมชาติมิได้วิปริต ที่วิปริตคือมนุษย์ต่างหาก

สังคมคือการเปลี่ยนแปลงของหน่วยย่อย ก็คือปัจเจกทั้งหลาย ความไร้ระเบียบที่แต่ละคนก่อส่งผลกระทบคนอื่น และส่งผลไปสู่ความไร้ระเบียบอื่น ๆ หลายความไร้ระเบียบก่อให้เกิดความโกลาหลในสังคม ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ขับรถฝ่าไฟแดง นาย ข. ขับรถผิดเลน นาย ค. ไม่เดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย ผลที่ตามมาจากการกระทำของสามคนนี้อาจส่งผลให้ประเทศสูญเสียน้ำมันไปเปล่า ๆ ถึงหลายหมื่นลิตรในวันนั้น

นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของอังกฤษ เดวิด แอ็ตเทนเบอโรห์ กล่าวในสารคดีเรื่องหนึ่งของเขาว่า “อนาคตของชีวิตบนโลกขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการลงมือ ปัจเจกชนจำนวนมากกำลังทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงมีแต่มาจากความเปลี่ยนแปลงในสังคมทั้งหลายของเรา เศรษฐกิจของเรา และการเมืองของเรา ผมโชคดีที่ในชั่วชีวิตของผมได้เห็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งใหญ่หลายอย่างที่โลกธรรมชาติมอบให้ แน่นอนเรามีความรับผิดชอบที่จะส่งต่อให้ลูกหลานของเราในดาวเคราะห์ที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสายพันธุ์ทั้งหมด”

เขากล่าวว่า “ถ้าประชาชนสูญเสียความรู้ ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจต่อโลกธรรมชาติ พวกเขาก็จะทำไม่ดีต่อธรรมชาติ” และ “พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว”

การรับผิดชอบต่อสังคมไม่เพียงแต่จำเป็น มันยังเป็นประเด็นทางศีลธรรมด้วย มนุษย์ควรรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ก่อให้โลกใบนี้ การสูญสิ้นพันธุ์ของสัตว์และพืชในโลกมากมายส่งผลต่อเราเอง เพราะทุกอย่างเป็นไปอย่างเป็นลูกโซ่ การฆ่าสัตว์สายพันธุ์เดียวจนสูญพันธุ์ อาจทำให้อีกหลายพันธุ์ต้องตายไปด้วย เพราะมันเกื้อกูลกัน

สิ่งที่เราช่วยทำได้นั้นง่ายมาก หยุดซื้อสัตว์ป่า หยุดซื้อของป่า ลดการใช้ไม้ ลดการใช้กระดาษโดยไม่จำเป็น เลิกกินหูฉลาม เขากวาง นอแรด ดีหมี รังนก และความเชื่อผิด ๆ อีกมากมาย เราไม่ต้องรอนโยบายยิ่งใหญ่ของพวกที่ชอบเอ่ยวลี ‘พ่อแม่พี่น้องที่รักทั้งหลาย’ เราไม่ต้องคิดพึ่งพิงคนที่ใช้การเมืองเป็นของเล่น

สองมือเล็ก ๆ ของเราแต่ละคนนี่แหละที่จะแก้ไขปัญหาเองโดยไม่ต้องสนใจว่าในวันพรุ่งนี้ ใคร ๆ จะลืมเรื่องนี้แล้วหรือไม่ คนจำนวนมากไม่รู้ว่า ความรักชาติคือความรับผิดชอบต่อชาติ คนที่ยิ่งมีเงินมีอำนาจ ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม บางคนรู้แต่เลือกที่จะลืม เช่นที่ลืมคนชื่อ สืบ นาคะเสถียร ไปเรียบร้อยแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน