เรื่องราวล่าเสือดำของคณะ เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย เดเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพรรคพวก ทำให้ชื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง โดยเฟซบุ๊กเพจ จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์ โพสต์เรื่องราวดังกล่าวว่า

ทุ่งใหญ่นเรศวร เกี่ยวอะไรกับพระนเรศวร…

จากคดีสะเทือนใจไทยทุกทิศ เรื่องมีเศรษฐีใหญ่ทรงอิทธิพลไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ในคุณค่าของ “ป่า” มากขึ้น ในฐานะแหล่งที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์

แต่หลายท่านอาจจะสงสัยอยู่ว่า แล้วทุ่งใหญ่นเรศวรนี้ เกี่ยวอะไรกับ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2517 ครอบคลุมพื้นที่ด้านทิศเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี และทิศใต้ของจังหวัดตาก มีลักษณะทางภูมิศาสตร์และพืชพรรณที่หลากหลาย ตลอดจนมีสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ เหตุนี้ ทุ่งใหญ่นเรศวรจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในปี พ.ศ. 2534

เหตุที่มีคำว่า “นเรศวร” ต่อท้ายชื่อ เพราะเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเคยตั้งทัพอยู่บริเวณ “ทุ่งใหญ่” ก่อนจะข้ามไปโจมตีพม่า

“ทุ่งใหญ่” นี้ เป็นทุ่งหญ้าด้านตะวันตกของแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง “ด่านพระเจดีย์สามองค์” อันเป็นช่องเขาซึ่งใช้เดินทางระหว่างไทย-พม่ามาแต่โบราณกาล และเป็นเส้นทางเดินทัพหลักในสงครามไทย-พม่าหลายๆครั้ง

ในการเดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปยังด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น เอกสารโบราณได้ชี้ให้เราเห็นว่าเมื่อกองทัพเคลื่อนมาถึงเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำแควใหญ่-แควน้อยแล้ว กองทัพจะต้องเดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนจะตัดข้ามกลับมายังแม่น้ำแควน้อยเพื่อเข้าด่านพระเจดีย์สามองค์ (ที่ไปทางแม่น้ำแควน้อยเลยไม่ได้ เพราะแม่น้ำแควน้อยในช่วงก่อนถึงเมืองกาญจนบุรีนั้นมีเกาะแก่งอยู่เป็นจำนวนมาก) เมื่อผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ไปแล้ว จึงเดินทัพตามแนวแม่น้ำอัตรัน มุ่งตรงสู่เมืองเมาะตะมะ อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญก่อนจะเข้าสู่ดินแดนพม่า

แล้วสงครามครั้งไหนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะได้ใช้เส้นทางนี้

พบว่ามีอยู่สองครั้งด้วยกัน ได้แก่

1.สงครามตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2138
2.สงครามตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 2+ตองอู ในปี พ.ศ. 2142

ทั้งสองครั้งนี้เป็นการยกทัพไปยังกรุงหงสาวดีโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จนำทัพไป และอาจจะได้เคลื่อนทัพผ่าน “ทุ่งใหญ่” ตามตำนานที่ได้กล่าวกันมา

แต่ในความเป็นจริง เส้นทางที่สะดวกที่สุดในการยกทัพตัดข้ามจากแม่น้ำแควใหญ่มาสู่แม่น้ำแควน้อย คือ “ช่องสะเดา” ซึ่งอยู่ลงมาทางใต้ของทุ่งใหญ่หลายกิโลเมตร (มาก) ช่องสะเดานี้มีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างภูเขา เหมาะแก่การยกทัพขนาดใหญ่นับแสนนายได้ และมีร่องรอยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางมาตรฐาน หากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเสด็จขึ้นไปถึงทุ่งใหญ่ ก็นับว่าออกนอกเส้นทางมาตรฐานไปไกลพอควรทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนเรศวรที่ทุ่งใหญ่ ก็สะท้อนเรื่องราวความสำคัญของเส้นทางเดินทัพ “ด่านพระเจดีย์สามองค์” และพื้นที่เกี่ยวเนื่องอย่างชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน