รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณบดีวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส (CHW) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานการผลิตยาที่เรียกว่า GMP หรือ Good Manufacturing Practice , PIC/ S ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรของสหภาพยุโรป (EU) ที่เข้มงวดและได้มีการปรับใช้เป็นเกณฑ์ผลิตยาสมุนไพรของอาเซียนและประเทศไทย

ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตยาสมุนไพรไทยทั้งสิ้น จำนวน 925 แห่ง แยกเป็น 1.โรงงานที่ยกระดับเป็นมาตรฐาน GMP, PIC/S จำนวน 56 แห่ง 2.โรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP ASEAN จำนวน 14 แห่ง 3.โรงงานที่ได้มาตรฐานในประเทศโดยใช้เกียรติบัตรเป็นเกณฑ์แต่ต้องลงทุนพัฒนาให้ได้มาตรฐาน GMP ASEAN แบ่งเป็นโรงงานมาตรฐานพื้นฐานระดับเหรียญทอง จำนวน 23 แห่ง โรงงานระดับเหรียญเงิน จำนวน 3 แห่ง และโรงงานระดับเหรียญทองแดง จำนวน 8 แห่ง และ 4. โรงงานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา จำนวน 821 แห่ง โดยจำนวนนี้มีถึง 500 แห่ง ที่อาจจะต้องเตรียมปิดตัวเนื่องจากไม่สามารถพัฒนาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ปัญหาที่ผู้ผลิตยาสมุนไพรไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากโรงงานขนาดเล็กขาดงบประมาณปรับปรุงหรือเพิ่มเทคโนโลยีที่จำเป็น การขาดแคลนเทคโนโลยี-นวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยตั้งแต่กระบวนการปลูกสมุนไพร ตลอดจนขาดความรู้ในการพัฒนาสมุนไพรที่ครบวงจร โดยเฉพาะความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกําหนดว่าจะใช้เทคโนโลยีระดับไหนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จะต้องมีข้อมูลสนับสนุนด้านคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย

ทั้งนี้เพื่อช่วยผู้ผลิตยาสมุนไพรให้สามารถประคองตัวให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงขอเสนอภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องยื่นมือเข้ามาสนับสนุนโดยด่วน ในทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับสมุนไพรด้านต่าง ๆ โดยควรทำโครงการฝึกอบรม และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมสมุนไพรสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจกิจการต่อไปได้

ทั้งนี้ภาคการศึกษาควรมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ผลิตยาสมุนไพรในเวลานี้ได้ โดย รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ มองว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยมีการสร้างงานวิจัยพัฒนาสมุนไพรและเน้นการตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยเป็นหลัก โดยในส่วนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาดยังมีน้อย

ดังนั้นการปรับบทบาทอาจารย์ของมหาวิทยาลัยในการช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมและสนับสนุการสร้างนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อนำไปใช้จริงในธุรกิจของผู้ประกอบการสมุนไพรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้สามารถทำได้ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขุมกําลังการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสมุนไพรหลักของประเทศอยู่ที่สถาบันอุดมศึกษา และหนึ่งในนั้นคือ “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” โดยจัดตั้งวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส ขึ้นเพื่อรองรับการวิจัยพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรโดยมุ่งจัดระบบการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับปริญญาตรี-โท-เอก และหลักสูตรประกาศนียบัตรในหลายสาขา

อาทิ สาขาที่ 1. สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย ที่มุงเน้นเป็นแพทย์แผนไทยที่สามารถสร้างนวัตกรรมสุขภาพในการนำยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรัง (NCDs) หรือป้องกันโรคได้ โดยวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาศักยภาพการผลิตยาสมุนไพรอย่างครบวงจร มีการสร้างโรงงานผลิตยาสมุนไพรมาตรฐานในระดับ Pilot scale เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจประเมินโดย อย. อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรและโรงงานผลิตเครื่องสำอางในระดับ Pilot scale ด้วย

ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิตสารสกัดสมุนไพรที่มีคุณภาพสูงอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตสารสกัดสมุนไพรคุณภาพ เทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริมและเครื่องสําอางเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย

การมุ่งเน้นการพัฒนายาสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลกนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศที่เป็นแหล่งสมุนไพรคุณภาพ ที่ผ่านมาได้ประสบความสําเร็จในการพัฒนาตํารับยาแผนไทยที่เป็นตํารับยาชนิดสกัดเข้มข้น จำนวน 270 ตำรับ มีสรรพคุณที่ดีในการรักษาโรคโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรัง (NCDs) ที่ใช้กับได้ผลกับผู้ป่วยในคลินิกแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาล จากจำนวนคนไข้ถึง 65,000 คน ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

สาขาที่ 2 วิทยาศาสตร์เครื่องสําอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขณะนี้หลักสูตรอยู่ระหว่างการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากสภามหาวิทยาลัยและคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาในปี 2568 ซึ่งจะมีการทำหลักสูตรอบรมระยะสั้นต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับ SME

โดยในอนาคตจะสามารถที่จะบูรณาการร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ หรือคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร อาหารที่มาจากสมุนไพร หรือสารสกัดสมุนไพรที่เข้มข้นสามารถพัฒนาธุรกิจหรือยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมที่มุ่งเน้น Wellness ได้

สาขาที่ 3 คือ สาขาการแพทย์ทางเลือก โดยทั่วโลกมีศาสตร์การแพทย์ทางเลือกมากมายหลายสาขา โดยในประเทศไทยมีสาขาหลักที่นอกเหนือจากการแพทย์แผนไทย เช่น การแพทย์แผนจีนการแพทย์อายุรเวชของอินเดีย ไคโรแพรกติก สุคนธบำบัด (Aromatherapy) ซึ่งเป็นศาสตร์การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบําบัดอาการต่างๆ ที่กําลังเป็นนิยมในสปา

ซึ่งขณะนี้วิทยาลัยมี Know-how เรื่อง สุคนธบําบัด ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้หลากหลาย จะเป็นเครื่องสําอาง หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาเพื่อใช้ทําทรีทเม้นท์ การบริการในสปาในรูปแบบต่างๆที่ครอบคลุมถึงอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาอีก 2 สาขา ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรสร้างเศรษฐกิจ คือ อาหารสุขภาพ-อาหารแห่งอนาคต (Health Food-Future Food) และเภสัชศาสตร์

วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในระดับสากล และยังช่วยส่งเสริมการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยผู้ผลิตสมุนไพรไทยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจได้อย่างครบวงจรตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สอดคล้องกับแนวทางของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน