โรคอ้วน’เป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน ล่าสุดเด็กไทย อ้วนติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน พบเด็กอายุ 6 – 14 ปี กินขนมรสเค็มมากที่สุด 84.1% คาดอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า 50% ของเด็กทั่วโลก จะเผชิญกับภาวะอ้วน – เสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs

สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายคนไทยไม่กินหวาน และเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส จัดงานมหกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ ‘อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน’ (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ภายใต้โครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อรณรงค์โภชนาการสมวัย โชว์ผลงานจากโรงเรียน 19 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประกาศสุดยอดโรงเรียนต้นแบบสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวถึงการสร้างเสริมสุขภาพเด็กไทยในมุมมองผู้บริหารว่า สสส. ดำเนินงานในเรื่องสุขภาพของคนไทยทุกช่วงอายุวัย เพราะเราต้องการที่จะเห็นคนไทยมีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดงานเพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกทัศนคติที่ดี และแนวโน้มของการสร้างพฤติกรรมอย่างยั่งยืนในด้าน 3 อ. ได้แก่ อาหาร (รู้จักคุณค่าทางโภชนาการ) การออกกำลังกาย การมีสุขภาวะที่ดีทางอารมณ์ และการรู้เท่าทันสื่อ

ภาวะอ้วนกำลังรุกรานเด็กไทย ล่าสุดไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กอายุ 0 – 5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 9.13% เด็กวัยเรียนอายุ 6 – 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.4% เด็กวัยรุ่นอายุ 15 – 18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.2% สาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ อาทิ การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และขาดการออกกำลังกาย ในที่สุดก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรค NCDs

ในอนาคตหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ในปี 2573 คาดว่าจะมีเด็กอ้วนทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 50% เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมเรื่องสุขภาพ ทั้งทางด้านอาหาร กิจกรรมทางกาย และการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ เพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องโภชนาการนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี” นางญาณี กล่าว ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เสริมว่า โครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ เป็นการรวมตัวของ 19 โรงเรียนที่มีความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาแกนนำนักเรียนเพื่อเป็นนักสื่อสร้างสรรค์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ให้กับเด็กๆ ด้วยกันได้ ผ่าน ‘3 นวัตกรรม’ คือ 1. นวัตกรรมกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร ได้สื่อสารนวัตกรรมสื่อรณรงค์ให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน 2. นวัตกรรมของสื่อ ต้องเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ อาทิ ท่าออกกำลังกาย เมนูอาหาร และ 3. นวัตกรรมการยกระดับและการขยายผล โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการออกแบบโภชนาการและกิจกรรมที่เหมาะสมแก่เด็ก

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเรามีโรงเรียนต้นแบบเกิดขึ้นกว่า 60 โรงเรียน ที่ทำงานส่งเสริมโภชนาการที่สมวัย ขณะเดียวกันทำให้เด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ ผ่านยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่เรียกว่า 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ มาใช้เพื่อให้เด็กไทยได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และใช้อารมณ์ในการเอาชนะตนเองเพื่อสุขภาพ” ดร.ดนัย กล่าว ซึ่งโรงเรียนที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ ภายใต้หัวข้อ ‘อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน’ (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ประจำปี 2567 คือ โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่มาในธีมสุดสร้างสรรค์ ‘เด๊ะ เด๊ะ สุขภาพดีชวนตะลุยดินแดนอาหรับ’

นางสาวสุภาพร แสงสมาน ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าถึงการดำเนินงานว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้มีเป้าหมายลดนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้หลัก 3 อ. จากกิจกรรมสร้างสรรค์ไปใช้เป็นแนวทา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง โดยกิจกรรมทั้งหมดจะมาใน ‘ธีมอาหรับ’ เป็นการเพิ่มลูกเล่น ความน่าสนใจดึงดูดและชักชวนให้เด็กมาช่วยกันเลือกเมนูอาหาร รวมถึงออกแบบกิจกรรมทางกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้ตนเองและเพื่อนๆ ในโรงเรียน

เริ่มจากเมนูอาหารของโรงเรียน ต้องลดหวานและมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ในส่วนของกิจกรรมทางกายนักเรียนทุกคนจะได้ออกกำลังกายผ่านนวัตกรรมที่เรียกว่า พรมวิเศษแห่งอะลาดิน เครื่องมือเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กิจกรรมนี้จะทำในชั่วโมงพลศึกษาและจะมีการประเมินสุขภาพของนักเรียนทุก 1 เดือน เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลง ในส่วนอารมณ์โรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ อย่างการแต่งเพลงเกี่ยวกับเด็กอ้วน โดยให้เด็กร่วมแสดงและร้องในทุกวันพุธ เน้นสร้างความสนุกเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปพร้อมกัน” ผอ.สุภาพร กล่าว ด้วยความภูมิใจ ส่วนโรงเรียนที่ได้รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) ผลงาน ‘ดรุณวิทยาสุขภาพดี OrigiMAM’ และ รองชนะเลิศอันดับ 2 จากโรงเรียนบ้านเขากวาง จ.ลพบุรี ผลงาน ‘ไทยเบิ้ง นวัตวิถี ชีวีดีเอ๊อะ’ พร้อมอีก 3 รางวัลพิเศษ WOW Menu : เมนูชูสุขภาพสร้างสรรค์ดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนบ้านโนนม่วง จ.ขอนแก่น ผลงาน ‘สร้างสาน

ลานสุข (สุขภาพดี)’ เด้อ WOW Identity : อัตลักษณ์สร้างสรรค์ดีเด่น โรงเรียนบ้านงิ้ว จ.ขอนแก่น ผลงาน ‘บ้านงิ้วนรกแตก แหกหวาน มัน เค็ม’ และ WOW Creation : สื่อสร้างสรรค์ดีเด่น โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ จ.น่าน ผลงาน ‘กระซิบฟิต (FIT) บันลือโลก’

ซึ่งผลงานทั้งหมดนี้จะถูกนำไปใช้ขยายผลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารและรณรงค์ให้เด็กไทยมีสุขภาพดีต่อไป เด็ก คือคนที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากร ที่สำคัญและทรงคุณค่าต่อประเทศ ดังนั้น พ่อ – แม่ โรงเรียน ชุมชน สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้พวกเขาแข็งแรง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและปกติสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน