นฤมล ลุยหนองคาย ติดตามการบริการจัดการน้ำช่วงหน้าแล้ง พร้อมโฉนดเกษตรกร 100 ราย ตั้งเป้าแจก 22 ล้านไร่ ในปี 68

วันที่ 16 มี.ค. 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย แห่งที่ 2 ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ช่วงฤดูแล้ง

นางนฤมล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดดำเนินการในหลายนโยบายให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าเอาไว้ เช่น การแจกโฉนดเพื่อการเกษตร โดยปี 68 เราตั้งเป้าจะทำให้ครบทั้ง 22 ล้านไร่ รวมทั้งเราจะออกโฉนดต้นยางให้กับเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 11.17 ล้านไร่ และโฉนดต้นไม้ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับต้นยางพาราหรือต้นไม้ที่ปลูกอยู่บนที่ดินของตนเองไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.และนำไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจได้

นางนฤมล กล่าวต่อว่า โดยจะ Kick off เปิดโครงการในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เราตั้งเป้าออกโฉนดต้นยางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และในอนาคตชาวสวนยางยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพิ่มเป็นรายได้เสริม

“ดิฉันกล่าวมาตลอดว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ 2 เรื่อง คือ การถวายงานให้กับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพราะกรมต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ เกิดขึ้นเพราะในหลวง ร.9 และ ร.10 สานงานต่อ คือการดูแลเกษตรกรของพระราชา ดังนั้น เราจึงต้องดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นหลัก”

“ไม่ว่ารัฐบาลจะไปเจรจาข้อตกลงใดๆ ก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ผลประโยชน์จะต้องตกอยู่ที่เกษตรกรไทยก่อน ซึ่งถ้าเกิดผลทางลบ เราก็จำเป็นที่จะต้องทักท้วงและโต้แย้ง เพื่อแสดงว่า เราไม่เห็นด้วย” นางนฤมลกล่าว

จากนั้นนางนฤมลให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาติดตามโครงการที่ได้ดำเนินการเอาไว้ อย่างเช่นเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับพี่น้องชาวภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดหนองคายที่มีพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก รวมไปถึงงบประมาณต่างๆ ที่จะต้องผ่านมติของที่ประชุมสภาฯ รวมไปถึงการดูแลพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำลังเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการผลิตข้าวด้วยตนเอง และให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนแล้วทั้งสิ้น 4,985 แห่ง และในปี 68 จะสามารถมีศูนย์ข้าวชุมชนได้ประมาณ 7,000 แห่ง และปี 69 จะจัดตั้งได้เพิ่มอีก 500 แห่ง

นางนฤมล กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วเราต้องการดำเนินการได้มากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจในเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า ศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องชาวนา เพราะจะทำให้เกิดพันธุ์ข้าวที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่

ในโอกาสนี้ ศ.ดร.นฤมล และนายอิทธิ ได้ร่วมกันมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 100 ราย พร้อมปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,300 ตัน, พันธุ์ปลา, หญ้าแพงโกล่าแห้ง, ถุงยังชีพปศุสัตว์ และเครื่องมืออุปกรณ์ทอผ้าไหมเกษตรกรอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แก่ตัวแทนเกษตรกรผู้มาร่วมงานด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน