แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ข่าวของน้องๆ 13 คนที่ประสบภัยติดค้างอยู่ในถ้ำหลวง ก็มีกระแสข่าวตามที่มีรูปหนึ่งเห็นโค้ชเอกห้อยพระอยู่องค์หนึ่ง มีหลายคนอยากรู้ว่าเป็นพระอะไร ถ้าดูตามรูปนั้นก็ยังบอกไม่ได้หรอกครับว่าเป็นพระอะไร บางกระแสก็ว่าได้ไปสอบถามคุณป้าของโค้ชเอกว่าเป็นพระรอดลำพูน ครับมีผู้สอบถามกันมากมายเกี่ยวกับพระรอดลำพูน ผมก็ได้รับมอบหมายให้มาเล่าถึงพระรอด ก็ขอบอกเล่าถึงพระรอดว่าคือพระอะไร มีหลายรุ่นหรือไม่

ผมขอเล่าย่อๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายดังนี้ครับ พระรอด ที่เป็นหนึ่งในพระชุด เบญจภาคีนั้นหมายถึงพระรอดที่พบ ในกรุของวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน พงศาวดารโยนกอ้างถึงตำนานเมือง หริภุญชัย และตำนานจามเทวีวงศ์ อีกทั้งชินกาลมาลินี กล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนสร้างเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูนเดิม) มีพระฤๅษีอยู่ 4 ตน คือ สุเทวฤๅษี (วาสุเทพฤๅษี) สุกกทันตฤๅษี สุพรหมฤๅษี สุมณนาระทะฤๅษี ได้ประชุมกันว่าจะสร้างเมืองขึ้นมา

เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ไปเชิญพระนางจามเทวีมาจาก ละวะปุระ (เมืองลพบุรีในปัจจุบัน) ให้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย และได้มีการสร้างวัดสี่มุมเมืองเพื่อเป็นจตุรพุทธปราการคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่เมืองและราษฎร ได้แก่วัดพระคง เป็นพุทธปราการประจำทิศเหนือ พระเครื่องที่รู้จักกันดีก็คือพระคง วัดดอนแก้ว เป็นพุทธปราการประจำทิศตะวันออก พระเครื่องที่นิยมก็คือพระบาง วัดประตูลี้ เป็นพุทธปราการประจำทิศใต้ พระเครื่องที่สำคัญก็คือพระเลี่ยง วัดมหาวัน เป็นพุทธปราการประจำทิศตะวันตก พระเครื่องที่สำคัญก็คือ พระรอด พระเครื่องต่างๆ นั้นพระฤๅษีที่ 4 ก็ได้ปลุกเสกและบรรจุไว้ที่วัดต่างๆ นี้

ที่นี้เราก็มาพูดถึงพระรอด กรุวัดมหาวัน กับการกำหนดยุคสมัย เท่าที่มีตำนานกล่าวไว้และโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ อีกทั้งศิลปะองค์พระของพระรอดนั้นสอดคล้องกัน ก็สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีอายุถึงพันกว่าปี เนื่องจากศิลปะของพระรอดนั้นมีเค้าโครงของศิลปะคุปตะยุคปลายของอินเดีย ซึ่งก็อยู่ในยุคของอาณาจักรทวารวดีตอนปลายในไทยเช่นกัน

นักวิชาการบางท่านกำหนดให้ศิลปะยุคเก่าที่พบในเมืองลำพูนเป็นศิลปะแบบหริภุญชัย การขุดพบพระรอดที่กรุวัดมหาวันมีการขุดพบมาแต่โบราณ ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณวัดมหาวัน เนื่องจากองค์พระเจดีย์ของวัดได้ล้มทลายลง พระเครื่องที่บรรจุไว้จึงกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณวัด มีการขุดหากันไปทั่วบริเวณทั้งวัด ได้บ้างไม่ได้บ้างจนพระหมดไปในที่สุด

พระรอดกรุวัดมหาวันเมื่อผู้นำไปบูชาติดตัวก็มีพุทธคุณทางด้านนิรันตรายแคล้วคลาดปลอดภัย จึงเป็นที่นิยมเสาะหากันมาก แต่พระก็หายากจนมีมูลค่าสูงมากมาแต่โบราณ และถูกจัดให้อยู่ในพระชุดเบญจภาคีที่มีราคาสูง พระรอดของกรุวัดมหาวันมีอยู่ด้วยกัน 5 พิมพ์คือ พระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์เล็ก พระรอดพิมพ์ต้อ และพระรอดพิมพ์ตื้น พระรอดกรุวัดมหาวันเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาขนาดเล็ก ขนาดประมาณปลายนิ้วก้อยเท่านั้น มีสีอยู่หลายสี เช่น สีแดงอิฐ สีอมเหลืองแบบใบลาน สีขาว สีเขียว เป็นต้น

อาจารย์ตรียัมปวายท่านได้แต่งโคลงเกี่ยวกับพระรอดไว้ว่า

มาลัยเมืองเลื่องล้ำ ลำภูญ-ชัยเฮย

พุทธภาคอัครไอศูรย์ โศลกอ้าง

ปกป้องอีกอนุกูล การยาต-ราพ่อ

นามรอด, ปรอดวินาศร้าง รอดแคล้วคืนสถาน

ครับโคลงที่ท่านอาจารย์แต่งไว้ก็บ่งบอกได้ดีถึงพุทธคุณของพระรอดว่า ปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย รอดกลับบ้านได้ปลอดภัยครับ

พระรอดกรุวัดมหาวันนั้นต่อมาหาได้ยากมาก จึงได้มีการสร้างพระรอดโดยจำลองทำรูปแบบคล้ายของเดิมอีกหลายรุ่น เช่น พระรอดอินทิยงยศ เป็นพระรอดที่จัดสร้างขึ้นโดยเจ้าอินทิยงยศโชติในปี พ.ศ.2451 บรรจุไว้ และมีการพบต่อมาในปี พ.ศ.2485 พระรอดกองแก้ว พระภิกษุกองแก้ว ได้สร้างพระรอดรุ่นใหม่ขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2485 พระรอดอภิวังโส ในปี พ.ศ.2495 เจ้าคุณประสาสน์สุตาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดจามเทวี ได้สร้างพระรอดขึ้นอีกรุ่นหนึ่ง

พระรอดวัดพระสิงห์ ในปี พ.ศ.2495 ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ก็ได้มีการสร้างพระรอด โดยมี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เพื่อนำปัจจัยมาปฏิสังขรณ์พระอารามในภาคเหนือ พระรอดครูบาศรีวิชัย หรือที่เรียกกันว่าพระเกศาครูบาศรีวิชัย ซึ่งสร้างพระไว้หลายพิมพ์ในจำนวนนี้มีพระแบบพระรอดด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีการสร้างพระแบบพระรอดกันอีกหลายๆ ครั้ง จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงมีพระรอดอยู่หลายรุ่น แต่ไม่ว่าจะเป็นพระรอดรุ่นใดที่มีพิธีปลุกเสกอย่างถูกต้องก็ให้ผลทางด้านนิรันตรายเช่นกัน คือเด่นทางด้านแคล้วคลาดรอดปลอดภัยครับ

ครับก็ขออธิษฐานขอบารมีของพระรอด และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยคุ้มครองให้น้องๆ ทั้ง 13 คน และทีมกู้ภัยทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยน้องๆ แคล้วคลาดปลอดภัยทุกท่านครับ

ในวันนี้ผมขอนำรูปพระรอด กรุวัดมหาวัน พิมพ์ใหญ่ จากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน