หลวงปู่ไข่ อินทสโรวัดเชิงเลน กรุงเทพฯ

คอลัมน์ อริยะโลกที่6

หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดเชิงเลน กรุงเทพฯ – วันพฤหัสบดีที่ 16 ม.ค.2563 น้อมรำลึกวันคล้ายวันมรณภาพ ครบ 88 ปี “หลวงปู่ไข่ อินทสโร” วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีพลังจิตที่เข้มขลัง นามของท่านจึงขจรขจายไปไกล เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก ที่มากด้วยพุทธคุณ

ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในชุดเบญจภาคีพระปิดตา

เป็นชาวแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2400 ที่ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดา ชื่อ นายกล่อม และนางบัว จันทร์สัมฤทธิ์

อายุ 6 ขวบ บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อปาน วัดโสธรฯ เพื่อให้เรียนหนังสือ ต่อมาจึงได้บวชเป็นสามเณร ได้ฝึกหัดเทศน์จนมีชื่อเสียงในทางเทศน์มหาชาติ เมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพจึงเดินทางไปอยู่กับพระอาจารย์จวง วัดน้อย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

อายุ 15 ปี พระอาจารย์จวงมรณภาพ จึงเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ เรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 3 ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน จ.สมุทรสงคราม

ศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรม จนอายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดลัดด่าน โดยมี พระอาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ภู่ วัดบางกะพ้อม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากนั้น เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เมืองกาญจนบุรี แล้วจึงกลับมาอยู่ที่วัดลัดด่านอีกครั้งหนึ่ง

ออกธุดงค์เป็นประจำทุกปีรวมระยะ 15 ปี เวลาท่านธุดงค์ผ่านไปทางใด ถ้ามีผู้คนทุกข์ยากหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็รักษาให้หายโดยตลอด เกียรติคุณเป็นที่รู้จัก จนมาถึงกรุงเทพฯ จึงมีผู้มานิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ 1 พรรษา แล้วก็ออกธุดงค์ไปในป่าอีก

ต่อมา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเห็นว่าวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) เป็นวัดที่เงียบสงบดี จึงได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดพบิตรพิมุขต ลอดมา

ระหว่างจำพรรษาอยู่วัดบพิตรพิมุข ได้ปฏิบัติทางธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ อาทิ สอนพระกัมมัฏฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมทำบุญ เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น สร้างพระไตรปิฎก

โดยหลวงปู่ไข่ลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน ขึ้นภายในบริเวณวัด สร้างแท่นสำหรับนั่งพักภายในคณะกุฏิให้เป็นที่สะดวกแก่พระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่ในคณะนั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ตามหัวเมือง ก็ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง

ด้านวัตถุมงคล สร้างพระเครื่อง พระปิดตา และเหรียญรูปเหมือนไว้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระที่หายากมาก นอกจากนี้ ยังมีพระกลีบบัวอรหัง ซึ่งสร้างไว้ประมาณปี พ.ศ.2470 จำนวนมาก

เป็นพระที่สมถะใฝ่สันโดษไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านยังมีชื่อเสียงด้านการเทศน์มหาชาติ อีกทั้งยังมีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณ ศิษย์ของท่านมีทั้งไทย จีน และแขกซิกข์เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาหาท่านให้ช่วยรักษา ซึ่งท่านก็จะช่วยรักษาทุกครั้ง ไม่เคยแบ่งแยกชาติ ศาสนา เชื้อตระกูล จิตใจของท่านใสบริสุทธิ์

ราวปี พ.ศ.2470 หลวงปู่ไข่ เตรียมบาตร กลด และย่าม เพื่อจะออกธุดงค์ แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายปรึกษาหารือกันว่า หลวงปู่ไข่ชราภาพมากแล้ว จึงได้นิมนต์ยับยั้งไว้ โดยขอให้หลวงปู่ไข่อยู่วิปัสสนากัมมัฏฐานแก่บรรดาศิษย์ต่อไป

หลวงปู่ไข่ เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ครั้นวันที่ 16 ม.ค.2475 เวลา 13.25 น. ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน