คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง : หลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ

หลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ : สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรื่องประวัติพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ ลึกๆ ที่อยู่ในต่างจังหวัด บางครั้งบางทีก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้เลย จะมีเพียงจากการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากลูกศิษย์ลูกหาของท่าน และชาวบ้านในแถบนั้นๆ เล่าบอกต่อให้ลูกหลานฟังเท่านั้น

ซึ่งทำให้ประวัติของท่านค่อนข้างเลือนรางลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นการน่าที่จะสืบค้น และบันทึกเอาไว้ เพื่อเป็นการสืบต่อมิให้ประวัติของท่านเลือนหายไป

ครับในวันนี้ผมขอนำเอาประวัติของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก มาบอกเล่าตามที่ได้สืบค้นมาให้อ่านกันคร่าวๆ ครับ

วัดบางปลาหมอ เป็นวัดเก่าแก่ สืบค้นไม่ได้ว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งใด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชื่อวัดบางปลาหมอนี้ คงได้มาตามชื่อของชุมชนในสมัยนั้น ซึ่งเมื่อสร้างวัดแล้วก็มักจะเรียกชื่อวัดตามชื่อของชุมชนนั้นๆ และชุมชนแห่งนี้ ตามห้วยหนองคลองบึงคงจะมีปลาหมอชุกชุม จนขึ้นชื่อและเป็นที่มาของชื่อชุมชน

และในสมัยที่หลวงพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากชาวบ้านและมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อสุ่นมาก จะมีคนมาฟังเทศน์ และมาให้หลวงพ่อช่วยบำบัดรักษา โรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ

หลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ

ประวัติของหลวงพ่อสุ่น นั้นเลือนรางมาก มีแต่การเล่าต่อๆ กันมาอีกทีหนึ่ง ที่พอจะสันนิษฐานจากรูปถ่าย ปีพ.ศ.ที่ถ่ายไว้ และประมาณอายุของท่านในตอนที่ได้ถ่ายรูปนั้น ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อสุ่น น่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.2358

หลวงพ่อสุ่นอาจจะเป็นพระญาติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ฝ่ายเจ้าจอมมารดาก็อาจเป็นได้

สืบเนื่องจากพระราชนิพนธ์ “ประพาสต้น” ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ.2449 ของพระพุทธเจ้าหลวง กล่าวถึงว่า

“วันที่ 5 เช้าโมงหนึ่ง น้ำลดสะพานเดินได้ ขึ้นไปถ่ายรูปในมณฑป ที่พูดเมื่อวานนี้ มีพระป่าเลไลยก์ และรูปเจ้าอธิการวัดบางปลาหมอ ที่เขาเรียกในคำจารึก แต่ว่าพระอาจารย์หมอ รูปร่างงาม ขนาดเท่าตัว ท่านอาจารย์คนนี้เป็นหมอรักษาบ้า ว่าเป็นพระญาติสมเด็จพระปวเรศ”

จากพระราชนิพนธ์นี้ทำให้ได้เค้าข้อมูลบางอย่าง ประการแรก ในปีพ.ศ.2449 นั้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงนิพนธ์ไว้ว่า ได้ถ่ายรูป รูปเจ้าอธิการ จารึกว่าฯ แสดงว่าหลวงพ่อสุ่น มรณภาพแล้ว และที่ว่าเป็นพระญาติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ก็มาจากข้อมูลนี้

อีกทั้งรูปถ่ายของหลวงพ่อสุ่นนั้น ถ่ายคู่กับพัด ซึ่งมีจารึกไว้ที่พัดว่า เป็นที่ระลึกงานพระเมรุ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้า เสาวภาคนารีรัตน (พระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์) แสดงว่าหลวงพ่อสุ่นได้รับนิมนต์ในงานพระเมรุนั้นด้วยครับ

จากหลักฐานที่ยังพอเหลืออยู่ก็ทำให้สันนิษฐานต่อได้ว่า หลวงพ่อสุ่นน่าจะมรณภาพในราวปีพ.ศ.2447 สิริอายุราว 89-90 ปี หลวงพ่อสุ่นเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคันธ์ และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำผู้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งได้รับการบอกเล่าต่อมาจากหลวงพ่อปาน ก็พอจะได้เค้าลางดังต่อไปนี้ หลวงพ่อสุ่นเป็นพระเกจิอาจารย์ที่แก่กล้าในด้านวิทยาคม และวิชารักษาคนป่วยไข้ มีผู้มาบวชกับหลวงพ่อสุ่นอยู่มาก และหลวงพ่อสุ่นก็เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

เมื่อหลวงพ่อปานมาบวชอยู่กับหลวงพ่อสุ่นแล้ว ท่านก็ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมต่างๆ กับหลวงพ่อสุ่น ซึ่งหลวงพ่อสุ่นก็ได้ถ่ายทอดวิทยาคมให้แก่หลวงพ่อปานจนหมดสิ้น หนึ่งในนั้นก็เป็นวิชารักษาคนเจ็บไข้ ซึ่งมีผู้คนเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นช่วยปัดเป่ามากแต่ละวัน เมื่อหลวงพ่อสุ่นเห็นว่าหลวงพ่อปานท่านพอที่จะรักษาคนป่วยได้แล้ว

ท่านจึงให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้แก่คนไข้ หลวงพ่อปานก็เห็นว่าน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อย หลวงพ่อปานก็กำลังจะไปตักน้ำเติมในตุ่มเพื่อทำน้ำมนต์ แต่หลวงพ่อสุ่นห้ามไว้ และให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์เลย เมื่อหลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผู้คนมาให้รดน้ำมนต์ประมาณ 50 คน

แต่น้ำมนต์ในตุ่มกลับลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงพ่อปานจึงถามหลวงพ่อสุ่นว่าทำไมน้ำมนต์ไม่ลดลงเลย หลวงพ่อสุ่นจึงบอกว่า “ฉันเอาใจตักแล้ว” จากนั้นหลวงพ่อสุ่นจึงได้สอนวิชาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อสุ่นเวลาที่จะรักษาคนไข้ท่านก็จะตรวจดูด้วยญาณก่อนเสมอ ว่าได้หรือไม่ ถ้าได้ท่านก็จะรักษาให้หายได้ทุกราย นอกจากคนที่ถึงฆาตแล้วจริงๆ เท่านั้น มีผู้คนทั้งไกลและใกล้จนถึงบางกอกทยอยเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นรักษาทุกๆ วันไม่ขาด

และท่านก็เป็นที่รักเคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก ท่านจะสร้างสิ่งใดก็จะเข้ามาช่วยเหลือร่วมมือกันกระทำจนสำเร็จทุกเรื่อง หลวงพ่อสุ่นได้สร้างเสนาสนะ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ วิหาร พระไสยาสน์ และองค์พระเจดีย์ วัดบางปลาหมอก็มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น

ก่อนที่หลวงพ่อสุ่นจะมรณภาพ ท่านเคยบอกแก่หลวงพ่อปานว่าถ้าท่านสิ้นไปแล้ว ให้หลวงพ่อปานไปเรียนกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อยต่อ เนื่องจากท่านทั้งสองรูปนี้สนิทสนมกันมาก

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่นที่ท่านได้สร้างไว้ เท่าที่ทราบก็มีมีดหมอ ซึ่งมีน้อยหายากมากๆ ครับ และพระเครื่องเนื้อดินเผา บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ที่วัดบางปลาหมอ ในปีพ.ศ.2494 องค์พระเจดีย์แตกร้าว และมีพระเครื่องพิมพ์กลีบบัวไหลออกมา ชาวบ้านก็มาเก็บกันไว้บูชา

หลังจากนั้นทางวัดก็ได้เข้ามาเก็บ และแจกจ่ายให้เช่าบูชาในภายหลัง เพื่อนำมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่อไป และในปีพ.ศ.2528 มีการรื้อวิหารพระไสยาสน์เพื่อสร้างขึ้นใหม่ก็ได้พบพระเครื่อง พิมพ์กลีบบัวฟันปลาอีกครั้งหนึ่ง แต่พบพระไม่มากนักครับ

ในวันนี้ผมก็ได้นำรูป มีดหมอของหลวงพ่อสุ่น และพระเครื่องพิมพ์กลีบบัว จากหนังสือ ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย 108 พระคณาจารย์แดนสยามมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน