หลวงปู่เอียน วัดป่าโคกหม่อน – วันเสาร์ที่ 1 ส.ค.2563 ถือเป็นวันมงคล หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย จะมีอายุครบรอบ 96 ปี เหล่าศิษย์ผู้ใกล้ชิดและญาติโยม ผู้เลื่อมใส จะร่วมมุทิตาจิตฉลองอายุวัฒนมหามงคล เป็นประจำทุกปี

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าโคกหม่อน ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นพระปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ในศรัทธาของสาธุชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

เกิดเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2467 บิดา-มารดาชื่อ นายขันธ์-นางปริง บุญทวี เลือดเนื้อเชื้อสายแขมร์สะเร็น ครอบครัวประกอบอาชีพปักดำทำนาทำไร่

จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียน บ้านทมอ อ.ปราสาท หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษาในหมู่บ้าน ออกมาช่วยงานครอบครัวทำมาหากินทำไร่ทำนาตามวิถีชาวอีสาน

ในปี พ.ศ.2498 อายุ 30 ปี ได้พบหลวงปู่สาม อกิญจโน พร้อมชักชวนให้ลงภาคใต้ เพื่อเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดไม้ขาว ประกอบพิธีในอุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นพระคู่สวด

จากนั้นไปจำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ (หลังสวน) อ.เมือง ภูเก็ต เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่ เทสก์ 1 พรรษา

ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่าฉัตรชัย จ.ภูเก็ต 1 พรรษา จึงเข้าอำลาหลวงปู่เทสก์กลับมาตุภูมิ และได้พบหลวงปู่สาม อกิญจโน สร้างที่พักสงฆ์ในป่าละเมาะริมถนนสายสุรินทร์-ปราสาท ก.ม.12 บ้านตระงอน ต.นาบัว ขณะนั้นยังไม่สร้างเป็นวัดป่าไตรวิเวก อยู่จำพรรษากับหลวงปู่สาม 1 ปี แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าศรัทธาราม จ.นครราชสีมา 3 พรรษา แล้วลงภาคใต้อีกครั้งเพื่อนมัสการหลวงปู่เทสก์ ก่อนไปตระเวนจำพรรษาในเขตพื้นที่ จ.กระบี่ และจ.พังงา 4 พรรษา

ขึ้นภาคอีสานนมัสการ หลวงพ่อโชติ คุณสัมปันโน วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังทราบว่าหลวงปู่สามแนะนำให้ไปบวชกับหลวงปู่เทสก์จึงรับไว้เป็นศิษย์ สอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน 6 พรรษา ย้ายไปจำพรรษาที่วัดบ้านตะเคียน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 1 พรรษา จึงย้อนกลับไปเยี่ยมบิดา-มารดา ญาติโยมต่างเห็นว่า หลวงปู่เอียนแสวงหาวิเวกปฏิบัติธรรมเนิ่นนาน อายุเริ่มชราจึงหาวัดใกล้บ้านเกิด

พ.ศ.2518 ราษฎรนมัสการหลวงปู่เอียน เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโคกหม่อน ในตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 3

วัดป่าโคกหม่อนมีเนื้อที่ 7 ไร่ มีต้นไม้ร่มรื่น ด้วยความมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม จึงมีลูกศิษย์ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนแวะเวียนมาทำบุญสม่ำเสมอ มีเงินจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเป็น 17 ไร่ สร้างเมรุ และถาวรวัตถุอื่นๆ มีเนื้อที่ปลูกผักสวนครัว มะม่วง น้อยหน่า มะนาว และผลไม้หลากหลายชนิดแจกจ่ายให้ราษฎร และจัดเก็บปรุงอาหารเลี้ยงพระภิกษุ

พ.ศ.2530 จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษา ให้เด็กนักเรียนยากจน ปัจจุบันมีเงินทุน 1 ล้านบาท โดยมอบเงินทุนให้ในวันวิสาขบูชาของทุกๆ ปี พร้อมนี้ยังได้จัดตั้งมูลนิธิวัดป่าโคกหม่อนขึ้นเพื่อปฏิสังขรณ์วัด และเป็นทุนการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2537 ได้ทำพินัยกรรม 1 ฉบับ เพื่ออุทิศร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่ 229/2537

ด้วยวัตรปฏิบัติดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาในหมู่ญาติโยมอย่างรวดเร็ว ได้รับการยกย่องทั้งจากพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ว่าเป็นพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

ด้วยเมตตาบารมีทำให้วัดป่าโคกหม่อน เจริญรุ่งเรืองในเวลาที่รวดเร็ว

คติธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นทุกข์ เพราะความยึดถือ ของทุกอย่างต้องปล่อยให้ว่าง นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่มาของการอุปสมบท ปุตโต คีเว แปลว่า บุตรผูกคอ ธนปาเท แปลว่า ทรัพย์ผูกตีน ภริยา หัตเถ แปลว่า ภรรยาผูกมือ เมื่อมีคนตายทำไมถึงต้องมัดตราสัง เหตุที่มัดเพราะต้องการให้คนพิจารณาปริศนาธรรม

ด้วยเหตุนี้ จึงใช้ชีวิตสมถะ มุ่งเน้นการปริยัติ ปฏิบัติธรรมเป็นหลัก

ทุกวันนี้ ในวัย 96 ปี ยังคงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ ความสามารถ และความเสียสละ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง ยึดมั่นที่จะพัฒนาสังคม ให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยความรู้คู่กับคุณธรรม

เจริญรอยตามบุรพาจารย์พระป่าอย่าง ตั้งมั่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน