หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อุบลฯ – “การไม่กระทำบาปนั้นมันเลิศที่สุด บางคน บางคราว โจรมันก็ให้ได้ มันก็แจกได้ แต่ว่าจะพยายามสอนให้มันหยุดเป็นโจรนั้นนะ มันยากที่สุดการจะละความชั่วไม่กระทำผิดมันยาก การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาปทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ”

ธรรมโอวาทจาก พระโพธิญาณเถร หรือ หลวงปู่ชา สุภัทโท

วันเสาร์ที่ 16 ม.ค. 2563 น้อมรำลึกครบรอบ 29 ปี มรณกาล หลวงปู่ชา แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พระวิปัสสนาจารย์สายอีสาน ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนเป็นอย่างมาก

เกิดในสกุล ช่วงโชติ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2461 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ที่บ้านจิกก่อหมู่ที่ 9 ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บิดา-มารดาชื่อ นายมาและนางพิมพ์ ช่วงโชติ

ในช่วงวัยเยาว์ได้รับการศึกษาชั้นประถม ศึกษาที่โรงเรียนบ้านก่อ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จนจบชั้นประถมปีที่ 1 แล้วได้ ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยงานครอบครัว

เมื่ออายุ 13 ปี บิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี ก่อนได้รับอนุญาตให้บรรพชาเมื่อเดือนมีนาคม 2474 โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม จ.อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์

อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติ ครูอาจารย์เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อการท่อง สวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดา-มารดาทำไร่ทำนา ด้วยความจำเป็นของครอบครัวชาวไร่ชาวนาอีสาน

แต่ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียน จึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องกลับมาอุปสมบทเป็นพระให้ได้ กระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2482 ที่พัทธสีมาวัดก่อใน ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาเกิดความอยากเรียนให้สูงขึ้นเพราะมีจิตใจรักชอบทางธรรมอยู่แล้ว แต่ขาดครูอาจารย์ในการสอนระดับสูงต่อไป ทุ่มเทให้การศึกษาทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ มากมายจนในที่สุดสามารถสอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตรคือ สอบนักธรรม ชั้นโทได้ ในสำนักของพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอก

ครั้นเสร็จภารกิจการศึกษาหันมาสู่การปฏิบัติธรรม โดยออกธุดงค์และศึกษาหาแนวทางปฏิบัติในสำนักต่างๆ ผ่านพระอาจารย์มากมาย อาทิ หลวงปู่กินรี หลวงปู่เถระชาวเขมร พระอาจารย์คำดี พระอาจารย์มั่น รวมทั้งออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ตามรอบพระตถาคต

ในที่สุด ได้รับอาราธนาจากมารดา และพี่ชายให้กลับไปโปรดที่บ้านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2497

ดำเนินการสร้างวัดหนองป่าพง และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้มาโดยตลอดอุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมและ เผยแผ่พุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรมในนามวัดสาขาวัดหนองป่าพงมากมายทั้งในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา

ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2535 เวลา 05.30 น. ท่ามกลางความเศร้าโศกของศิษยานุศิษย์

ทุกวันนี้ วัดหนองป่าพงมีสถานที่เป็นที่เตือนใจของผู้ประสงค์จะนมัสการและรำลึกถึงคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติและผลงานมารวมไว้ ผนังพิพิธภัณฑ์มีภาพชีวิต ตลอดจนรูปปั้นขี้ผึ้ง

เสมือนหนึ่งยังมีชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน