“เมื่อจิตของท่านสามารถที่จะดำรงอยู่ในความเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้นๆ ความเป็นปกติจิตปรากฏเด่นชัดอยู่ตลอดเวลา ตัวปกติของจิตนั่นแหละคือตัวนิโรธ เพราะฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อเสน่ห์ กตปุญโญ” หรือ “พระครูอุปกิจสารคุณ” เจ้าอาวาสวัดพันสี ต.ท่าโพ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี ในปีพ.ศ.2520 คณะศิษยานุศิษย์มีความประสงค์หาทุนทรัพย์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ

จึงได้ขออนุญาตจัดสร้าง “เหรียญรุ่นแรก” เป็นเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 4,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปวงกลม ด้านบนเป็นลายกนกทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เจาะหูห่วงที่ยอดกนก ด้านหน้า ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนนูนหน้าตรง ด้านหน้ามีขอบ เหนือขอบล่างมีอักษรไทย เขียนว่า “เสน่ห์”

ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบ ซุ้มเหรียญสามเหลี่ยมหน้าจั่วไม่มีลายกนก แต่มีอักษรไทย เขียนว่า “รุ่นแรก” และเหนืออักษรไทยมีอุณาโลมกำกับ ตรงกลางเหรียญมียันต์อักขระ “นะ” ซ่อนหัว หรือ “นะ” สำเร็จ ใต้ยันต์มีเลขไทย “๒๕๒๐” เหนือขอบเหรียญด้านล่างมีอักษรไทย เขียนว่า “วัดพันสี อุทัยธานี” กำกับด้วยลายกนก หัว-ท้าย เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่อนาคตไกล

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2545 ในวาระที่ “หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก และวัดศรีสุขมีโครงการจะก่อสร้างกุฏิริมสระน้ำ แต่ยังขาดปัจจัย พระครูใบฎีกาพิทยา ญาณิกวังโส คณะ 2 วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญพัดยศหมวกเหล็ก” ถวาย มอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่บริจาคสมทบทุนก่อสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญทรงรูปพัดยศ มี 16 แฉก ไม่มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ ในท่านั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน บริเวณด้านล่างสุดเขียนคำว่า “หลวงปู่สิงห์ คมฺภีโร” ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์หมวกเหล็ก ด้านล่างสุดเขียนคำว่า “วัดบ้านศรีสุข” คาดว่าน่าจะได้รับความนิยมในพื้นที่

“หลวงพ่อห่วง สุวัณโณ” วัดท่าใน จ.นครปฐม พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม วัตถุมงคลที่หลวงพ่อห่วงจัดสร้างมีมากมายหลายแบบ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” ที่สร้างในปี พ.ศ.2499

ลูกศิษย์เป็นผู้สร้างถวาย เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ จำนวนประมาณ 500 เหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเงิน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม ทรงเสมาคว่ำ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อห่วงครึ่งองค์ หน้าตรง มีอักษรไทยระบุชื่อ “หลวงพ่อห่วง” ตกแต่งโดยรอบด้วยลายกนก ด้านหลังเหรียญเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็น “ยันต์กระต่ายสามขา” ซึ่งเป็นยันต์ด้านคงกระพันชาตรีซ้อนกัน 2 ยันต์ โดยรอบเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ มะ อะ อุ” ยอดบนเป็น “อุณาโลม” ด้านล่างเป็นอักขระขอมว่า “นะ อุ ทะ” เป็นอีกเหรียญที่หายาก

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน