“การที่จะรักษาศีลให้มากข้อนั้นต้องดูสมรรถภาพของตัวเอง” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พระปิดตาหลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในชุดเบญจภาคีพระปิดตา คือ พระปิดตาเนื้อผง คลุกรัก ซึ่งมีค่านิยมสูง เริ่มสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 แต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก โดยยึดหลักหมดแล้วทำใหม่ จึงออกสู่สายตาน้อยมาก

พระปิดตา หลวงปู่ไข่ ใช้เนื้อหามวลสารจากผงอิทธิเจตามสูตรเฉพาะ พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ พระพาหาทั้งสองแนบชิด พระหัตถ์ที่ปิดพระพักตร์ทั้ง 2 ข้าง ไม่แสดงนิ้วพระหัตถ์ พระกรรณทั้งสองติดไม่ชัดเจนนัก พระกัประ (ข้อศอก) ด้านซ้ายต่ำกว่าด้านขวา พระเพลาค่อนข้างแคบสอบ ดูคล้ายๆ องค์พระนั่งชันเข่า องค์พระมีขอบแม่พิมพ์เล็กน้อย เลยจากนั้นจะเป็นส่วนเกินจากการกดแม่พิมพ์ซึ่งไม่มากนัก พิมพ์ด้านหลังเป็นหลังอูมแบบหลังเบี้ย หรือหลังประทุน แบ่งได้เป็น 3 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก นับเป็นพระปิดตาที่ได้รับความนิยม แต่หาได้ยาก

คณะศิษย์ หลวงพ่อหอม รตินธโร เจ้าอาวาสวัดไตรคามวสี อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนา ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อหาทุนสร้างถนนคอนกรีตภายในวัด เป็นเหรียญหล่อโบราณรุ่นแรก

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ใต้หูห่วงมีอักขระตัวธรรม 4 ตัว อ่านว่า มะ รุ คุรุ เป็นหัวใจของคาถา ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงพ่อหอม ในท่านั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านล่างสุดสลักตัวเลขไทย ๒๕ ซึ่งเป็นนัมเบอร์เหรียญ ด้านซ้ายบริเวณอังสะเหนือ หัวไหล่ของเหรียญตอกโค้ดตัวนะ เหนือไหล่ขวาสลักคล้ายเปลวดวงอาทิตย์ ในวงล้อมสลักอักขระคำว่า หอม ด้านหลังเหรียญแบบเรียบ สลักตัวหนังสือนูนไล่กัน 5 บรรทัด อ่านว่า ที่ระฤก ร.ศ.๒๓๗ หลวงพ่อหอม รตินธโร วัดไตรคามวสี จ.สกลนคร ปัจจุบันราคาพุ่งสูงเท่าตัว

“หลวงพ่อเคลือบ สังวรธัมโม” วัดหนองกระดี่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เมื่อเดือนสิงหาคม 2539 สโมสรไลออนส์อุทัยธานี โดย นายสำราญ รัตนโชติธาดา จัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อนำรายได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้และด้อยโอกาส เป็นเหรียญเนื้อนวะ และเนื้อทองแดง

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรี ไม่มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญมีขอบ ตรงกลางมีรูปนูนหน้าตรง ห่มจีวรสีเหลือง ด้านบนรูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อเคลือบ” ส่วนพื้นเหรียญลงยาแต่ละเหรียญเป็นสีแดง, สีน้ำเงิน, สีเขียว, สีฟ้า และสีม่วง ด้านหลังเหรียญมีขอบ ไม่ลงยาพื้นเหรียญ กลางเหรียญเป็นยันต์สี่ ที่มุมของยันต์มีอักขระขอม กลางยันต์กำกับด้วยนะเศรษฐี หรือนะสำเร็จ ยอดยันต์มีอุณาโลม เหนือขอบล่างเขียนว่า “อุทัยธานี” มีโค้ดตัว L (แอล) อยู่ด้านขวาของนะเศรษฐี ปัจจุบันเป็นเหรียญยอดนิยม

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน