“ของจริงที่ปรากฏขึ้นกับจิตของ ผู้ภาวนานั้น ต้องอยู่เหนือสมมติบัญญัติเสมอ ถ้าสิ่งใดยังมีสมมติบัญญัติอยู่ สิ่งนั้นยังไม่ใช่ความจริง ยังไม่ใช่สัจธรรม” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อน้อย อินทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุค วัตถุมงคลได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับ “เหรียญทรงเสมารุ่นแรก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2496 เป็นเหรียญอัดพิมพ์ เนื้อโลหะผสมทองแดง

ด้านหน้าเหรียญ ด้านบนมีอักษรตัวนูน เขียนคำว่า “หลวงพ่อน้อย” ตรงตัว “ห” มีขีดบริเวณหัว ขอบด้านหน้ามีลายกนก กึ่งกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อน้อยครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านล่างรูปหลวงพ่อน้อยประมาณแนวอกตัดตรง และไม่มีส่วนใดชิดเส้นขอบ จุดสังเกตมีเส้นขนแมวคมๆ ขวางเหรียญ ด้านหลังเหรียญเรียบ มียันต์นะปถมัง ตรงกลางเป็นเส้นนูนขึ้นมา เหรียญรุ่นนี้ ปัจจุบันหายาก

“หลวงปู่คำพอง ติสโส” พระวิปัสสนาจารย์ภาคอีสาน ประธานสงฆ์วัดถ้ำกกดู่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี พระป่าศิษย์รุ่นน้องหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง ที่เคยปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จัดสร้างวัตถุมงคลไม่มากนัก แต่เป็นที่นิยมและแสวงหา

นอกจากเหรียญรุ่นแรกแล้ว “เหรียญที่ระลึกงานฉลองอายุ 75 ปี หลวงปู่คำพอง” เป็นเหรียญอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยมนั่งปรกปลุกเสกด้วยตนเอง ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม ไม่มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่คำพองครึ่งองค์หันหน้าด้านซ้าย ใต้รูปเหมือนด้านล่างเขียนคำว่า “พระครูสุวัณโณปมคุณ (คำพอง ติสฺโส)”

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นเครื่องอัฐบริขาร บาตร กลด กาน้ำอยู่บนผ้าอาสนะล้อมรอบด้วยตัวอักษรนูน เขียนคำว่า “ที่ระลึกงานฉลองอายุ ๗๕ ปี วัดถ้ำกกดู่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี พ.ศ.๒๕๓๙” ทุกวันนี้ได้รับความนิยมสูงมาก

พระเกจิที่ได้รับการยกย่อง “พระครูพิบูลย์ คณารักษ์” หรือ “หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอุสภาราม (บางวัว) อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา วัตถุมงคลโดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก เนื้อทองแดง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2481 ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูเจ้าคณะแขวง พร้อมทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ 61 ปี

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญยกขอบโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อดิ่งหันหน้าตรงครึ่งองค์ มีอักษรไทยกำกับโดยรอบว่า พระครูพิบูลย์คณารักษ์ เจ้าคณะแขวงอำเภอบางปะกง วัดอุสภาราม ฉะเชิงเทรา ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ ภายในบรรจุอักขระขอม ล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่สร้าง คือ “พ.ศ.๒๔๘๑” ที่คำว่า พ.ศ.มีเส้นแตกที่ตัว “ศ” เป็นทางยาวขึ้นไปด้านบน ขอบยันต์ซ้ายมือเป็นเสี้ยนเกยกัน ปัจจุบันหายาก

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน