หลวงพ่อพริ้ง วชิรสุวัณโณ“พระครูธรรมสารรักษา” หรือ “หลวงพ่อพริ้ง วชิรสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัด วรจันทร์ ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมืองสุพรรณ มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ

นามเดิมชื่อ พริ้ง เกิดปีเถาะ ตรงกับพุทธศักราช 2409 บ้านอยู่ทางใต้ประตูน้ำวัดพร้าวฝั่งตะวันตก ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บิดา-มารดาชื่อนายเตียบและนางเรียน มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันเป็นผู้ชายทั้งหมดจำนวน 5 คน

เมื่ออายุ 12 ปี บิดา-มารดานำตัวไปฝากวัดพร้าวในสำนักพระครูปลื้ม ปรากฏว่าเป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถเรียนหนังสือไทย หนังสือขอม และท่องหนังสือสวดมนต์ได้แม่นยำรวดเร็ว ท่องพระปาฏิโมกข์จบตั้งแต่ตัวท่านยังเด็ก อายุย่างเข้าวัยหนุ่ม ช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพทำนา มีหลักฐานมั่นคง มีบ่าวรับใช้

ครั้นเมื่อพ.ศ.2431 อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดพร้าว โดยมีหลวงพ่อแก้ว เป็นอุปัชฌาย์, พระครูปลื้ม เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระครูอินทร์ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาเล่าเรียนกับพระครูอินทร์ วัดพร้าว 1 พรรษา จากนั้นพระครูอินทร์นำไปฝากศึกษาเล่าเรียนที่สำนักเรียนที่วัดมหาธาตุยุว ราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ ประมาณ 7 พรรษา แล้วกลับมาอยู่วัดพร้าวตามเดิม พร้อมด้วยความรู้คือ แปลพระปริยัติธรรมได้ สามารถแสดงธรรมได้ด้วยปากเปล่าเป็นอย่างดี แต่มิได้แปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ด้วยในสมัยนั้นนานครั้งจะมีการแปลพระปริยัติธรรมกันครั้งหนึ่ง

เมื่อบวชได้ 10 พรรษา ฝนแล้ง ชาวโพธิ์พระยาขาดแคลนข้าว เดือดร้อนเป็นอันมาก ประจวบกับพระภิกษุที่วัดพร้าวมีมาก ออกบิณฑบาตไม่ใคร่พอฉัน พระภิกษุต่างก็ย้ายที่อยู่กันไป ส่วนหลวงพ่อพริ้งได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองผักนาก อ.สามชุก 1 พรรษา แล้ว กลับมาอยู่ที่วัดพร้าวอีก 5 พรรษา ในตอนนี้นับพรรษาได้ 16 พรรษา

ต่อมา วัดวรจันทร์ขาดเจ้าอาวาส ประชาชนจึงพร้อมใจกันอาราธนาให้มาดำรงตำแหน่ง

กล่าวสำหรับ วัดวรจันทร์ ตั้งอยู่ที่ ต.โพธิ์พระยา เหนือสุดของอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ตั้งมากว่าร้อยปีคือ ก่อนพุทธศักราช 2377 แต่เดิมไม่มีถาวรวัตถุอันใด นอกจากกุฏิไม้ไผ่มุงแฝกอยู่ 2-3 หลัง ตั้งอยู่ที่ต้นมะตูมเหนือสระเก่า

พ.ศ.2476 วัดแห่งนี้แต่เดิมเรียกว่าวัดจันทร์ เปลี่ยนเป็น วัดวรจันทร์ โดยเพิ่มคำว่า “วร” แปลว่า ยอดเยี่ยม ประเสริฐเลิศ ด้วยเหตุที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เผื่อน ติสสทัตโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก และเป็น เจ้าคณะมณฑลราชบุรี

ครั้งนั้นเป็นสมภารอยู่วัดแห่งนี้เห็นว่าชื่อวัดจันทร์ไปพ้องกับ วัดจรรย์ อ.ศรีประจันต์ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 8-9 กิโลเมตร เป็นเหตุให้มีการส่งหนังสือราชการผิดพลาดกันเนืองๆ ดังนั้น พระ อุบาลีคุณูปมาจารย์จึงให้เปลี่ยนวัดจันทร์เป็นชื่อวัดวรจันทร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วัดวรจันทร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจนมาถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อพริ้งมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2483 สิริอายุ 73 ปี กล่าวกันว่า มีความคุ้นเคยสนิทกับสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) เป็นอันมาก

เมื่อมรณภาพ สมเด็จพระสังฆราชถึงกับมีรำพึงว่า “เมืองสุพรรณหมดคนดีไปอีกคนหนึ่ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน