“คนที่เป็นอัตตาธิปไตยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะทำอะไรก็ทำลงไป ไม่ได้พิจารณา ว่า มันจะกระทบกระเทือนคนอื่นไหม จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม จะทำให้เราเดือดร้อนไหม” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่จันทร์ จันทโชติ” หรือ “หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู จ.ลพบุรี” พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สมัยสงครามอินโดจีนต่อสงคราม โลกครั้งที่ 2 วัตถุมงคลเป็นที่ปรารถนา คือ “เหรียญรูปเหมือน ปี 2478” ที่ระลึกการสร้างศาลา เป็น “เหรียญรุ่นแรกและ รุ่นเดียว” เท่าที่พบเป็นเนื้อทองแดง

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่กลม หูในตัว ด้านหน้าเหรียญยกขอบเป็นลวดแบน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรไทยโดยรอบว่า “หลวงพ่อจัน อายุครบ ๘๓ ปี พระจันทะโชติ์” ด้านหลังเหรียญเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม “นะเฉลียวเพชร” ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม แล้วล้อมด้วยอักขระขอม 3 ตัว ว่า “อิสวาสุ” โดยรอบเหรียญจารึกอักษรไทยว่า “ให้เป็นที่รฤกในงานฉลองศาลา พ.ศ.๒๔๗๘” ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง สนนราคาถ้าสภาพสวยสมบูรณ์แตะหลักแสน รุ่นนี้มีบล็อกหน้าพิมพ์เดียว บล็อกหลังมีถึง 3 พิมพ์ ต้องศึกษาและพิจารณาจุดตำหนิให้ดี

“หลวงพ่อชุ่ม จันทโชติ” อดีต เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอุทุมพรทาราม หรือ วัดท่ามะเดื่อ ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิที่มีพุทธาคมเข้มขลัง “ผู้สร้างตำนานปาฏิหาริย์ปราบผี” เหรียญรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2463 เป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ ซ้อนวงกลม 2 ชั้น ด้านในวงกลมล่างเป็นโบซ้อน ระบุ พ.ศ.2463 ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระขอมล้อมรอบวงกลม ส่วนด้านบนมี หูเชื่อม ด้านหลังเหรียญเขียนเป็นอักขระ ด้านล่างเขียน “ไว้เปนที่ระฤก” ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม อย่างมาก

“หลวงพ่อแล ทิตตัพโพ” วัดพระทรง จ.เพชรบุรี ศิษย์สายหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง และหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง วัตถุมงคลอีกรุ่นที่ได้รับความสนใจคือ “เหรียญพัดยศหลวงพ่อแล” จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 เป็นเหรียญโลหะรูปทรงหยดน้ำ มีหูห่วง

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่แลนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ใต้ฐานเขียนชื่อ “พระครูธรรมธรแล” และตัวเลข “๒๕๓๙” ด้านข้างซ้ายเขียนคำว่า “วัดพระทรง” ส่วนด้านข้างขวาเขียนคำว่า “จ.เพชรบุรี” ขอบเหรียญด้านนอกเป็นลายกนก ถัดมาเป็นอักขระภาษาขอม ด้านในสุดล้อมรอบด้วยจุดไข่ปลา ส่วนรอบองค์หลวงปู่แลเป็นยันต์หัวใจพระราม ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัว

ด้านหลังเหรียญ บริเวณขอบเหรียญเป็นลวดลายกนกเหมือนด้านหน้า ตรงกลางเหรียญเป็นพานและหนังสือวางอยู่ด้านบน ใต้พานมีพญานาคคู่รองรับอยู่ และตอกโค้ดด้วยตัว “ล” ตรงฝั่ง ขวาล่าง วัตถุมงคลที่จัดสร้างล้วนแต่มีความประณีตงดงาม ทางพุทธศิลป์

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน