“ผู้ใดมาเคารพศีล 5 เป็นหลักยึดในจิตในใจของตน บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าถือธรรมเป็นใหญ่ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ เราก็จะมีแต่ความรัก ความเคารพ ความเมตตาปรานี” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา “พระกริ่ง พ.ศ.2479” สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศน์ สร้างในปี พ.ศ.2479 ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต พระกริ่งรุ่นดังกล่าว พุทธลักษณะใหญ่โตล่ำสัน พระกรรณสั้น ไม่ถึงพระอังศา พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ ศิลปะจีนแบบหนองแสพิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงประมาณ 4.1 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.4 เซนติเมตร เนื้อองค์พระจัดอยู่ในวรรณะแดง และเนื่องจากมีเงินกลมตรายันต์หลายร้อยก้อนผสมอยู่ จึงเป็นเหตุให้เมื่อสัมผัสหรือแช่น้ำไว้นาน ผิวองค์พระจะกลับดำสนิทเป็นเงางามเสมือนสีนิล ครั้นเมื่อหล่อพระกริ่ง 2479 เสร็จแล้ว ก็ได้นำพระกริ่งไปไว้ในพระตำหนักฯ เพื่อให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง จนเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงประทานแก่ผู้สั่งจอง และในปีนั้นรับสั่งว่า “พระกริ่ง” คราวนี้รัศมีดีมาก ยิ่งบูชายิ่งเป็นสิริมงคล จึงเป็นพระกริ่งที่นิยมมาก หายากรุ่นหนึ่งของพระกริ่งวัดสุทัศน์ เหรียญรุ่นแรก “หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต” อดีตพระเกจิอาจารย์อาวุโสนครปฐม วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 ที่ระลึกงานทำบุญฉลองอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส งานนี้คณะลูกศิษย์ร่วมกันจัดสร้างถวาย แต่ไม่กล้าขออนุญาต จึงไปขออนุญาตหลวงพ่อเต๋ เจ้าอาวาสวัดสามง่ามแทน นับได้ว่าได้รับการปลุกเสกจากทั้งหลวงพ่อเต๋และหลวงปู่แย้ม สองพระเกจิชื่อดัง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว ยกขอบ หน้า-หลัง ด้านหน้าเหรียญมีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่แย้มห่มคลุมจีวรหันข้างไปทางขวา ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “พระอาจารย์แย้ม ฐานยุตฺโต” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์พุทธะสังมิ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่าน มีข้อความว่า “ทำบุญฉลองครบอายุ ๕ รอบ รองเจ้าอาวาส วัดสามง่าม นครปฐม” และมีการตอกโค้ดตัว “ย” ทุกเหรียญ เป็น เหรียญยอดนิยมที่เสาะแสวงหา “หลวงพ่อผอง ธัมมธีโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมยาม อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ พระเกจิสายหลวงพ่อทบ วัตถุมงคลล้วนได้รับความนิยมสูง เหรียญยันต์กลับ รุ่นหนึ่ง สร้างขึ้นในวาระที่หลวงพ่อผองมีอายุครบ 7 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2551 ลักษณะของเหรียญทั้ง 2 ชนิดเป็นเหรียญทรงกลมคล้ายรูปไข่ มีลายกนกล้อมรอบ ขนาด 2.5 เซนติเมตร มีหูห่วงเชื่อม ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางจะเป็นรูปเหมือนขนาดครึ่งองค์ ใต้รูปโค้งไปตามขอบเขียนว่า “๗ รอบ หลวงพ่อผอง” มีอักขระ 3 ตัวอยู่ด้านบนและด้านข้างซ้าย-ขวา บนศีรษะรูปเหมือน ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ห้า หัวกลับลง ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดพรหมยาม อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์” ปลายยันต์หัวกลับเขียนว่า ๒๕๕๑ เป็นเหรียญหายากอีกรุ่นในขณะนี้ อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน