หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต เกจิดังอดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี – วันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 135 ปี ชาตกาล “พระเทพวงศาจารย์” หรือ หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พระเกจิผู้ปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดัง

วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง

มีนามเดิมชื่อ อินทร์ พรหมโลก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค.2429 ที่บ้านไร่คา ต.ลาดโพธิ์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

ครั้นอายุครบ 14 ปี บรรพชา เมื่อ วันที่ 28 เม.ย.2442 โดยมีเจ้าอธิการพลับ วัดวังบัว เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เรียนมูลกัจจายน์ กับ พระมหาริด (เปรียญ 4 ประโยค) และอาจารย์นวล เป็นเวลา 6 ปี

ครั้นถึงวันที่ 9 พ.ค.2450 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดวังบัว โดยมีพระพิศาล สมณกิจ (ริด) เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะเรียนวันหนึ่งได้แปลหนังสืออยู่กับพระพิศาลสมณกิจ (ริด) กรมพระสมมติอมรพันธุ์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งโดยเสด็จมากับพระพุทธ เจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ครั้งแปรพระราชฐานมายังเมืองเพชรบุรี เสด็จชมวัดคงคาราม ทรงได้ยินการแปลหนังสือของ พระภิกษุอินทร์ จึงสนับสนุนให้ไปสอบในสนามหลวง แต่ในปีนั้นพระพุทธ เจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงเป็นเหตุให้งดการสอบ

กระทั่ง พ.ศ.2452 ได้รับตราตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ (ริด) พ.ศ.2453 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ พ.ศ.2456 เดินทางเข้าไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเบญจมบพิตรอยู่ 8 เดือน

เมื่อกลับมาได้สร้างหอไตรขึ้นหลัง หนึ่งโดยมีจีนหงส์ ชาวบ้านปากทะเล อ.บ้านแหลม เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ นายนิ่ม กลิ่นอุบล เป็นผู้ทำลวดลาย ทำอยู่ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ

พ.ศ.2460 ขณะพรรษาที่ 11 ติดตาม พระพิศาลสมณกิจ (ริด) ผู้เป็นอาจารย์ ย้ายสำนักจากวัดคงคาราม มาอยู่ ณ สำนักวัดยางซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนราชดำเนิน กระทั่ง พ.ศ.2478 ท่านจึงดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดยาง

เป็นผู้มีความสามารถออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยการจดจำและการสังเกต ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดยาง ท่านทุ่มเทเรื่องศิลปะการช่างสร้างผลงานไว้มากมาย อาทิ ธรรมาสน์เทศน์หลายหลัง เช่นที่ วัดบัวงาม วัดหนองควง วัดสำมะโรง วัดปากคลองบางครก วัดใหม่ตีนครุ เป็นต้น

นับเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยาง เปรียบประดุจเป็นแหล่งเพาะช่างใหญ่เป็นที่ชุมนุมช่างแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ผู้ที่ได้ผ่านการบวชเรียนจากสำนักนี้แล้วจะเป็นผู้มีความรู้ทางช่างติดตัวไปเสมอ

นอกจากนี้ หลวงพ่ออินทร์ยังขยายการศึกษาด้านวิชาชีพ สร้างโรงเรียนอาชีพแห่งแรกของจังหวัด ชื่อว่าโรงเรียนช่างไม้วัดยาง เปิดการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2478 โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ขยายย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปไว้ที่วัดเลา ซึ่งเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ ถ.บริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี

ตลอดที่อยู่ใต้ร่มเงาพระศาสนา เป็น ผู้ที่มากไปด้วยคุณความดีเป็นอเนกประการ มีศรัทธาแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา จึงมีคณะศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือมากมาย

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดยาง พ.ศ.2478 เป็น เจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ

พ.ศ.2481 เป็น พระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2512 ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิศาลสมณกิจ

พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ที่พระพิศาลสมณกิจ

พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวชิราภรณ์

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวงศาจารย์

ตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 22 วัน

กระทั่งเวลา 21.15 น. วันที่ 28 ก.พ.2524 จึงละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี พรรษา 74

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน