“จิตใจและความประพฤติของตนเอง ที่ทำความชั่ว มันเป็นมะเร็ง เป็นโรคที่ยืดเยื้อ” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระครูพิศาลธรรมประยุต” หรือ “หลวงพ่อเกิด ปุณณปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสะพาน ต.อาษา อ.บ้านนา จ.นครนายก สร้างวัตถุมงคลมากมาย ทั้งผ้ายันต์ ตะกรุด และเหรียญ รุ่นแรก คือ เหรียญพิมพ์หน้าแก่ จัดสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 11 เม.ย.2479

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีทั้งเนื้อทองแดง และอัลปาก้า ด้านหน้าเป็นรูปเหมือน ลักษณะแก้มตอบ มีรอยย่นบนหน้าผาก 2 เส้นชัดเจน ขอบเหรียญมีเม็ดไข่ปลา ขอบด้านล่างมีลาย ตะขอคู่ ด้านล่างเป็นตัวหนังสือโค้งเขียนว่า “พระอุปัชณาย์เกิด วัดสะพาน” (อุปัชฌาย์ เขียนเป็นอุปัชณาย์) ส่วนด้านหลัง มียันต์และตัวอุณาโลมอยู่ด้านบน และด้านล่าง ปัจจุบันเริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุหมด

พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว วัตถุมงคลที่สร้างมีหลายอย่าง อาทิ นางกวัก ราชสีห์ ตะกรุดผ้ายันต์รอยเท้า มีดหมอ แหวน เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง คือ “เหรียญหลวงพ่อเดิม รุ่นปี 2482”

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ดอกจัน มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งสมาธิเต็มองค์นั่งบนอาสนะบัวคว่ำ-บัวหงาย ใต้ล่างอาสนะ เขียนคำว่า “อายุ ๘๐ พรรษาที่ ๖๐” รอบขอบเหรียญ เขียนคำว่า “พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หลวงพ่อเดิม” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ 5 มีอักษรขอม และชื่อวัดหนองโพ ปีที่สร้างพ.ศ.๒๔๘๒ ใต้ พ.ศ. มีรูปดอกจัน ปัจจุบันจัดเป็นเหรียญยอดนิยมของนครสวรรค์

“หลวงพ่อปาน โสนันโท” วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างพระเครื่องครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2450 มีด้วยกันหลายพิมพ์ วงการพระเรียกกันว่า พิมพ์โบราณ ต่อมา พ.ศ.2460 จึงสร้างรุ่น 2 ให้มีรูปแบบสวยงามกว่าครั้งแรก แบ่งเป็น 6 พิมพ์หลัก คือ ทรงไก่, ทรงครุฑ, ทรงหนุมาน, ทรงปลา, ทรงเม่น และทรงนก แต่ละพิมพ์ยังแยกย่อยออกไปอีกหลายพิมพ์ พิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ พิมพ์ ทรงไก่

ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจียนมุมทั้งสี่ด้าน เนื้อดินเป็นดินขุยปูและดินนวลตามทุ่งนา มีความละเอียดปานกลาง พุทธลักษณะ พิมพ์ทรงไก่หางพวง ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ อยู่เหนือฐานบัลลังก์ ด้านข้างพระพุทธประธานทั้งสองข้าง มีอักขระขอมตัวนูนข้างละ 2 ตัว คือ มะ อะ อุ อุ อันเป็นยอดพระคาถาหัวใจพระไตรปิฎก ส่วนด้านล่าง ใต้ฐานองค์พระ จะเป็นรูปไก่ หางพวง ในลักษณะแบกฐานองค์พระปฏิมา ด้านหลังเรียบ

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน