‘พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง-วัดอมรญาติสมาคม’ที่ว่าหายากวัตถุมงคลดังเมืองราชบุรี‘เหรียญหลวงพ่อย่น-วัดบ้านฆ้อง’ “เมื่อจิตวิ่งไปรู้สิ่งใด เราเอาสติตามไป ถ้าจิตอยู่ว่างๆ ก็ ให้ว่างไปถ้าจิตคิด ก็กำหนดตามรู้ไป ถ้าจิตจับลมหายใจ ก็กำหนดรู้ลมหายใจไป” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล” วัดอมรญาติสมาคม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดัง สร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยม โดยเฉพาะ “พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง” สร้างเมื่อปีพ.ศ.2470 ด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง วรรณะเหลืองอมเขียว ใช้วิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ แล้วตะไบขอบข้างเพื่อเก็บรายละเอียด

ลักษณะองค์พระ เป็นพระพุทธปางสมาธิขัดราบ ก้นมีชนวน ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 1.8 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.7 เซน ติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปจำลองพระ พุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิขัดราบ องค์พระห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านหลังปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน ก้นองค์พระมีเดือยของชนวน หายากและมีราคา

“พระครูพิพิธธรรมาภิรม” หรือ “หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดังแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ด้านวัตถุมงคลเหรียญหลวงพ่อย่นรุ่นแรกได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จัดสร้างในปีพ.ศ.2504 ที่ระลึกงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียนวัดบ้านฆ้อง สร้างเป็นลักษณะเหรียญทรงเสมาแบบมีหูในตัว โดยการปั๊มตัดขอบ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อฝาบาตร มีทั้งกะไหล่เงินและกะไหล่ทอง จำนวนการสร้าง ไม่ได้ระบุไว้ มี 2 พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ห่มดองและพิมพ์คลุม

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อย่นครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “หลวงพ่อย่น” ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “พระครูพิพิธธรรมาภิรม” ด้านหลังมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียน วัดบ้านฆ้อง” เป็นที่นิยมและหายากในพื้นที่

พ.ศ.2556 เนื่องในวาระการก่อสร้างกุฏิไม้กลางสระน้ำ คณะศิษย์ขออนุญาต “หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนรุ่นเจริญพร เพื่อนำรายได้สมทบทุนก่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมโพธิ์สามต้น ต.โพนทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญยกขอบ มีรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ครึ่งองค์ ใต้ห่วงเขียนคำว่า “เจริญพร” ด้านล่างรูปเหมือนมีอักษรเขียนว่า “พระครูสิริสุขวัฒน์ (สิงห์)” ส่วนที่บริเวณผ้าอังสะมีตัวอักษร “ส” เป็นบาลี ด้านหลังเหรียญยกขอบใต้ห่วงมีตัวอักษรเขียนว่า “ที่ระลึกงานฉลองกุฏิ” บริเวณกลางเหรียญเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์แบบอักษรล้านนา และมีโค้ดตัวอักษรไทยเป็นตัว “สจ” ย่อมาจากหลวงปู่สิงห์ และมีโค้ดตราตำรวจทุกเหรียญ มีบางเนื้อจะตอกโค้ด “ส” เพียงตัวเดียว

ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ.2543 “หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง มีอายุ 88 ปี จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญพระพุทธนิมิต” ขึ้นมารุ่นหนึ่ง เนื้อเงิน 188 เหรียญ, เนื้อทองแดง 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาดใหญ่ ไม่มีหูห่วง ด้านหน้ามีขอบสองชั้น ตรงกลางเหรียญบรรจุพระคาถาอิติปิโส 56 พุทธคุณ เป็นรูปองค์พระพุทธ สองข้างองค์พระมียันต์ นะใหญ่ หรือ นะเศรษฐี กำกับ พร้อมมีอักขระขอม สะ สะ ลิ เต, ติ ทะ ติ มะ ใต้ยันต์นะใหญ่ และรอบขอบเหรียญมีอักขระขอมหัวใจพระคาถาหลายบท มีโค้ดของวัดใต้รูปองค์พระ

ด้านหลังเหรียญมีขอบชั้นเดียว กลางเหรียญตีเป็นตารางบรรจุอักขระขอม 5 แถว ส่วนที่มุมทั้งสี่มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ กำกับ และใต้ขอบเหรียญมีอักษรไทย “เหรียญพระพุทธนิมิต ที่ระลึกหลวงปู่พระ ครูอุทัยธรรมกิจ (ตี๋ ญาณโสภโณ) วัดหลวงราชาวาส จ.อุทัยธานี” และยังมีเลขไทย ด้านซ้าย ๘๘ ด้านขวา ๔๓ ด้วย ปัจจุบันกำลังเป็นที่เสาะแสวงหา

“หลวงปู่หล้า เขม ปัตโต” แห่งวัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) บ้านแวง ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร พระเกจิ สายกัมมัฏฐาน ศิษย์สืบสายธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมบูรพาจารย์แห่งพระป่า ทั้งนี้ วัตถุมงคลของหลวงปู่หล้าได้รับการจัดสร้างออกมาเพียงไม่กี่รุ่นแต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่หล้า” รุ่นแรกในปีพ.ศ.2537

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ยกขอบ ไม่มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญขอบเหรียญมีเส้นสันนูน รอบขอบเหรียญชั้นในมีจุดไข่ปลา ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนครึ่งร่าง หันหน้าตรง ด้านหลังเหรียญแบนราบ ไม่มีขอบ ตรงกลางเหรียญเป็นอักขระยันต์ 3 บรรทัด กล่าวกันว่าเหรียญรุ่นนี้มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัยและสยบสิ่งอัปมงคล เป็นเหรียญที่หาได้ยากยิ่ง

หลวงพ่อพร้า อัตตสันโต เจ้าอาวาสวัดโคกดอกไม้ ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท จัดสร้าง “พระขุนแผน เนื้อผงน้ำมัน” จำนวนไม่มาก ลักษณะเป็นพระเนื้อผงน้ำมัน พิมพ์ห้าเหลี่ยม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ห้า บรรจุอักขระขอม มีอักษรไทยตัว “พ” อยู่กลางยันต์ ด้านซ้ายมีอักขระขอม (หัวใจพระสีวลี) ด้านขวามีอักขระขอม (หัวใจขุนแผน) และด้านบนมีอักขระขอม มีเลขไทยด้านล่าง “๙๐” และด้านล่างลงมายังมีอักษรไทย “วัดโคกดอกไม้ สรรคบุรี” รุ่นนี้ปลุกเสกเดี่ยวนานเป็นกรณีพิเศษ ถึง 3 พรรษา (พ.ศ.2556-2558) ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน