หลวงพ่ออุตตมะ-อุตตมรัมโภ – วันจันทร์ที่ 18 ต.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 15 ปี มรณกาล “พระราชอุดมมงคล” หรือ “หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ” เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้รับสมญาเทพเจ้าของชาวมอญ เป็นจิตวิญญาณผู้นำของชาวมอญพลัดถิ่นที่สังขละบุรี

ท่านเป็นชาวมอญ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับพ.ศ.2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง อ.เย จ.มะละแหม่ง เดิมชื่อ เอหม่อง ในวัยเยาว์เล่าเรียนอักขระรามัญและพม่ากับพระสงฆ์ที่วัดโมกกะเนียง

อายุครบ 19 ปี บรรพชาที่วัดโมกกะเนียง ตามประเพณีของชาวรามัญ มีพระเกตุมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาภาษาบาลีและพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ระหว่างนั้นท่านได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์อย่างใกล้ชิด จนเป็นที่เมตตาของพระอุปัชฌาย์

ตลอด 2 พรรษา ศึกษาพระปริยัติธรรมจนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ในปีพ.ศ.2474 ที่วัดเกลาสะ มีพระเกตุมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระนันทสาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวิสารทะ วัดเจ้าคะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้นามฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด

หลังอุปสมบทแล้ว ลาอุปัชฌาย์ไปศึกษาบาลีและพระปริยัติธรรมที่วัดปราสาททอง จ.มะละแหม่ง จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

จากนั้นกราบลาพระอาจารย์ไปจำพรรษาที่วัดสุการึ จ.สะเทิม ซึ่งเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีและพระปริยัติธรรม และสามารถสอบได้เปรียญ 8 ประโยค

ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าเลไลยก์ จ.มัณฑะเลย์ เพื่อศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์อัคควังโส ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเวลา 1 พรรษา

พ.ศ.2486 พระอุตตมะออกธุดงค์เพื่อหาประสบการณ์เข้ามาทางประเทศไทย ครั้งแรกท่านเข้ามาทางจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างนั้นได้พบกับพระธุดงค์หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นต้น

เวลาต่อมา ทราบข่าวว่าพระเกตุมาลา พระอุปัชฌาย์กำลังอาพาธ จึงรีบเดินทางกลับพม่า ครั้นพระเกตุมาลามรณภาพ ท่านได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ หลวงพ่อเดินทางเข้ามาทาง ต.ปิล็อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำพรรษาอยู่ที่วัดปรังกาสี 2 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดเกาะ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัดเป็นชาวรามัญ

ฝึกพูดภาษาไทยและศึกษาหนังสือไทยจนสามารถ อ่านเขียนภาษาไทยได้

พ.ศ.2494 มีคนมาแจ้งข่าวแก่หลวงพ่ออุตตมะว่า ที่ อ.สังขละบุรี มีชาวมอญจากบ้านเดิมของหลวงพ่ออพยพเข้าเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และต้องการนิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยม

หลวงพ่ออุตตมะเดินทางไปยัง อ.ทองผาภูมิ และ ไปยัง อ.สังขละบุรี และพบกับคนมอญทั้งหมดที่มาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง บ้านเกิดของท่าน

จึงพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี

ต่อมา พ.ศ.2499 หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและชาวไทยเชื้อสายมอญพร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น และสร้างเสร็จในเดือน 6 ของปี

แต่เนื่องจากยังมิได้มีการขออนุญาตจากกรมการศาสนา วัดที่สร้างเสร็จ จึงมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ

พ.ศ.2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาเป็นที่เรียบร้อย หลวงพ่ออุตตมะ ตั้งชื่อสำนักสงฆ์ตามชื่ออำเภอเก่า (อำเภอวังกะ) ว่า วัดวังก์วิเวการาม

ลำดับสมณศักดิ์และตำแหน่งด้านการปกครองคณะสงฆ์หลวงพ่ออุตตมะ มีดังนี้ พ.ศ.2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม พ.ศ.2505 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณาราม

พ.ศ.2511 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอุดมสังวรเถร

พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชอุดมมงคล

พ.ศ.2545 หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธ ไปจำพรรษาที่บริเวณสำนักสงฆ์ซึ่งลูกศิษย์จัดสร้างให้ตั้งอยู่บริเวณพุทธมณฑล และได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ

เช้าวันที่ 18 ต.ค.2549 หลวงพ่ออุตตมะละสังขารอย่างสงบ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 97 ปี พรรษา 73

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน