“เมื่อเราเชื่อมั่นในตนเองอย่างแน่วแน่แล้ว เราก็มาเชื่อมั่นในปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ปฏิปทาของพระพุทธเจ้านั้น พูดเอาง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่ากันอย่างนี้เลยทีเดียว” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ วัตถุมงคลโดยเฉพาะ เหรียญพิมพ์ทรงยันต์สี่ ที่ระลึกการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2467 ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบเสมา มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เอี่ยม นั่งขัดสมาธิบนธรรมาสน์ ขอบเหรียญด้านซ้ายมือเขียนคำว่า “ปีมะโรง จัตวาศก” และขอบเหรียญด้านขวาเขียนคำว่า “วัน ๖ เดือน ๑๑”

ด้านหลังเหรียญเป็นรูปยันต์สี่ ขอบเหรียญเป็นจุดไข่ปลา ล้อมรอบด้วยลายกนก เหรียญรุ่นยันต์สี่กับเหรียญรุ่นยันต์ห้า มีลักษณะคล้ายกัน แตกต่างตรงด้านหลังเหรียญรุ่นยันต์ห้า เป็นยันต์พระปถมังแบบยันต์ห้า อีกทั้งเหรียญรุ่นยันต์ห้า จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2469 เป็นเหรียญหลักยอดนิยมอันดับหนึ่งตลอดกาล

สืบเนื่องจากวัดจุกกะเฌอ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ก่อสร้างราวบันไดพญานาคหน้าอุโบสถ คณะศิษย์นำโดย อธิพัชร์ กนิษฐบุณยวินิจ ผู้เลื่อมใสศรัทธา “หลวงพ่อฟู อติภัทโท” เจ้าอาวาสวัดบางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา พระเกจิชื่อดัง จึงขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นมนต์พระกาฬ มอบให้ผู้ที่ร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนก่อสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฟู ห่มจีวรเฉียงนั่งเต็มองค์ในท่ากัมมัฏฐาน ด้านล่างมีตัวอักษรเขียนว่า หลวงพ่อฟู อติภทฺโท และมีอักขระยันต์ จากด้านล่างวนขึ้นไปถึงใต้ห่วง ด้านหลังบริเวณใต้ห่วงเขียนว่า มนต์พระกาฬ บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปหนุมาน มีแปดกร ด้านล่างสุดเขียนว่า ๙๘ เป็นตัวเลขอายุหลวงพ่อฟู จากด้านขวาของเหรียญลงไปด้านล่างเขียนว่า วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา จัดเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญ

“หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร” พระเกจิอาจารย์แห่งวัดกำแพง แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ชื่อเสียงดังถึงขั้นเป็นคำขวัญของเขตบางขุนเทียนคือ “หลวงพ่อไปล่วัดกำแพง แหล่งเกษตรกรรม วัฒนธรรมมอญบางกระดี่ พื้นที่ทะเลกรุงเทพฯ” พระเครื่องวัตถุมงคลที่โด่งดังมีชื่อเสียงคือ “เหรียญหล่อ ปีพ.ศ.2478” สร้างในงานฉลองอายุครบ 75 ปี มี 2 พิมพ์ คือ เหรียญจอบ และเหรียญรูปไข่ เนื้อโลหะผสมทองเหลือง

โดยเฉพาะเหรียญจอบหลวงพ่อไปล่ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ลักษณะเป็นเหรียญรูปจอบ มีหูห่วงใหญ่ ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อไปล่ นั่งขัดสมาธิอยู่ภายในซุ้มประตู ด้านหลังเหรียญมีข้อความว่า “ที่ระฤก ๒๔๗๘” แบบนี้จัดทำให้ใหญ่กว่าแบบอื่นๆ เพื่อแจกให้ผู้ชาย มีนายพุ่ม อ่อนทรัพย์ เป็นผู้แกะแบบและควบคุมการ เททอง ได้รับความนิยมอย่างมาก

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน