พิธีเชิญสัญญาบัตร-พัดยศพระพรหมมงคลวัชโรดม – พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เชิญหิรัญบัฏสถาปนาสมณศักดิ์ และเชิญสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ถวายแด่พระพรหมมงคลวัชโรดม (โอภาส โอภาโส) เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2564 เวลา 14.00 น. ณ พระอารามหลวงวัดจองคำ ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง

มี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าฯ ลำปาง และคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ คณะศิษยานุศิษย์ ผู้ใกล้ชิด พุทธศาสนิกชนชาวลำปางและชาวอำเภองาว เข้าร่วมประกอบพิธีอันเป็นมงคล

ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระเทพปริยัติมงคล ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมงคลวัชโรดม สุตาคมปริยัติวิธาน ปรีชาญาณอัคคบัณฑิต ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดจองคำ พระอารามหลวง จังหวัดลำปาง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

ด้วย พระพรหมมงคลวัชโรดม เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ จนทำให้วัดจองคำได้รับยกย่องจากมหาเถรสมาคมให้เป็น “สำนักศาสนศึกษาประจำจังหวัด”

ปัจจุบัน สิริอายุ 87 ปี พรรษา 67 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

นามเดิมชื่อ โอภาส หงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2477 อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 2 ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง บิดาชื่อนายหว่าหรือต๊ะหงษ์ มารดาชื่อนางสองจ่าหงษ์

อุปสมบทเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2499 ที่วัดหลวง ต.หลวงเหนือ อ.งาว จ.ลำปาง มีพระครูวิทิตธรรมคุณ วัดหลวงเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2524 เดินธุดงค์มาถึงวัดจองคำ ซึ่งรกร้างว่างเปล่า จึงปักกลดบูรณะพัฒนาวัดในด้านวัตถุจนกลับมาอยู่ในสภาพดีแล้ว จึงดำริว่า พระพุทธศาสนาจะมั่นคงอยู่ได้นอกจากจะพัฒนาทางด้านวัตถุแล้ว ยังต้องมีการศึกษาภาษาบาลีอันเป็นภาษากลางของพระพุทธศาสนา ให้แตกฉานเป็นความรู้คู่พระสงฆ์ด้วย

จึงนำแนวคิดไปหารือกับเจ้าคณะจังหวัดลำปางในขณะนั้น เพื่อขอเปิดโรงเรียนสอนภาษาบาลี ก่อนได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสำนักศาสนศึกษาวัดจองคำขึ้น เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2536

ผลิตผลทางการศึกษาของวัด ภายหลังส่งนักเรียนเข้าสอบบาลีสนามหลวงครั้งแรกในปี 2538 ในประโยค 1-2 จำนวน 33 รูป ที่คาดหวังว่าหากสอบผ่านได้ เพียง 1 รูป ก็ถือว่าเป็นความหวังของ วัดแล้ว

ปรากฏว่าในปีนั้นมีนักเรียนสอบผ่านถึง 15 รูป ทำให้ยิ่งมีกำลังใจในการจัดการศึกษามากขึ้น

แต่นั้นมา วัดจองคำมีสถิติการสอบได้ของนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัมฤทธิผลที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ทำให้ได้รับการยกฐานะจากสำนักศาสนศึกษา เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดลำปาง แห่งที่ 1 จาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) แม่กองบาลีสนามหลวงในขณะนั้น เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2542

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2549 เป็นเจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง พ.ศ.2561 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2533 เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครู อาทรปชากิจ พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปริยัติสุนทร

วันที่ 12 ส.ค.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัตโยดม

พ.ศ.2557 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปริยัติมงคล

ล่าสุด มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมงคลวัชโรดม

เกียรติคุณ พ.ศ.2541 รับพระราชทานเสมาธรรมจักร ฝ่ายพระปริยัติธรรม แผนกบาลี และได้รางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ตลอดจนให้เป็นวัดตัวอย่างโครงการสวนสมุนไพรภายในวัด

นอกจากความเป็นนักบริหารจัดการแล้ว ยังกำหนดให้พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปภายในวัด ต้องศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งกำชับให้เชื่อฟังคำสั่งสอนของเจ้าอาวาสและครูบาอาจารย์

เป็นพระดีอีกรูปที่ชาวเมืองลำปางให้ความเลื่อมใส

วินัย บุญมีพิสุทธิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน