“คนที่ฉลาดแล้ว สอนไม่มากหรอก ถ้าคนไม่ฉลาด สอนมากแค่ไหน…ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันเกี่ยวกับคนสอนด้วยนะ” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

“พระครูวรนาถรังษี” หรือ “หลวงพ่อปุย ปุญญสิริ” อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ อ.ศรี ประจันต์ จ.สุพรรณบุรี วัตถุมงคลโดยเฉพาะเหรียญท้องกระทะ รุ่นพิเศษ หรือรุ่นสร้างศาลา หรือที่เรียกเหรียญ ท้องกระทะ จัดสร้างเป็นที่ระลึกในการสร้างศาลาการเปรียญที่มีเสาใหญ่เมื่อปีพ.ศ. 2522 จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง

ลักษณะเหรียญด้านหน้าเป็นแอ่งแบบท้องกระทะ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อปุย ลักษณะเหรียญด้านหน้าเป็นแอ่ง แบบท้องกระทะ ด้านล่างเขียนว่า “หลวงพ่อปุย ปุญฺญสิริ” ด้านหลังเหรียญด้านบนเขียนเป็นเลขไทยว่า “๒๕๒๒” และมีอักขระขอมกำกับไว้รอบ ด้านกลางเหรียญเขียนว่า “๘๕” เชื่อว่าเป็นอายุของหลวงพ่อปุย เมื่อนับตามจริง และเขียนไว้ที่เหรียญอีกว่า “รุ่นพิเศษสร้างศาลา” ด้านข้างรอบเหรียญเขียนว่า “พระครูวรนาถรังษี วัดเกาะ ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี” เป็นอีกเหรียญที่ได้รับความนิยม

“หลวงพ่อชุ่ม จันทโชติ” อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอุทุมพรทาราม หรือวัดท่ามะเดื่อ ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิที่มีพุทธาคม สร้างตำนานปาฏิหาริย์ปราบผี จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ทั้งนี้ เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2463 เป็นเหรียญรูปไข่

ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ ซ้อนวงกลม 2 ชั้น ด้านในวงกลมล่างเป็นโบซ้อน ระบุพ.ศ.2463 ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระขอมล้อมรอบวงกลม ส่วนด้านบนมีหูเชื่อม ด้านหลังเหรียญเขียนเป็นอักขระ ด้านล่างเขียน “ไว้เปนที่ระฤก” เหรียญ ดังกล่าวได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม

“วัดพระซอง” ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม เดิมเป็นวัดรกร้าง เคยเป็นที่ตั้งฐานหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.32) ภายในอุโบสถวัดประดิษฐาน “หลวงพ่อพระซอง” พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ ศิลปะขอมโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี ในปีพ.ศ.2519 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) จัดสร้างวัตถุมงคล เป็นเหรียญหลวงพ่อพระซอง มอบให้กับวัดและแจกทหารในสังกัด

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญประดิษฐาน “หลวงพ่อพระทอง” ประดิษฐานบนแท่นบุษบกกลีบบัวหงาย 1 ชั้น ลอยนูนโดดเด่น ด้านหลังเหรียญเส้นขอบล้อมด้วยจุดไข่ปลา ใต้หูห่วงมีลายเส้นยันต์ “นะอกแตก” กำกับด้วยอักขระ 4 ตัว ถัดลงมามีเส้นนูนคล้ายใบโพธิ์ ในวงเส้นมีตราสัญลักษณ์ของหน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด บรรทัดล่างสุดสลัก “นพค.” อักษรย่อชื่อหน่วย และ “นพ.19” ชื่อย่อนครพนม และปีย่อพุทธศักราชที่สร้าง

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน