วันเสาร์ที่ 23 เม.ย.2565 น้อมรำลึกครบรอบ 131 ปี ชาตกาล “พระครูธรรมสาทิศ” หรือ “หลวงพ่อแม้น ธัมมสโร” วัดใหญ่โพหัก ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง วัตถุมงคลมากด้วยพุทธคุณและประสบการณ์

เกิดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2434 เป็นชาวตำบลโพธิ์หักมาแต่กำเนิด เป็นบุตรของนายทอง และนางโมง ทิมบุตร

ในช่วงวัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและบาลีกับหลวงพ่อกล่อม วัดใหญ่โพหัก

เมื่อเติบใหญ่จนอายุ 21 ปี ในปี พ.ศ.2455 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดใหญ่โพหัก โดยมีหลวงพ่อแดง วัดทำนบ ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการดำ วัดจินดาราม ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และพระอธิการอ้น วัดใหญ่โพหัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ธัมมสโร

จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่โพหัก เพื่อร่ำเรียนวิชาจากพระอาจารย์หลายท่าน ทั้งใน จังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เริ่มตั้งแต่หลวงพ่อกล่อม วัดโพหัก, หลวงพ่อแดง วัดทำนบ, หลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง, หลวงพ่อดำ วัดจินดาราม, หลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม และหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง

กระทั่งในปี พ.ศ.2460 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักว่างลง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา ทำนุบำรุงวัดอย่างสุดความสามารถ บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระศาสนา บูรณะวัดใหญ่โพหัก เดิมซึ่งชำรุด ทรุดโทรมให้ดีขึ้น

กล่าวสำหรับ “วัดใหญ่โพหัก” เป็นวัด เก่าแก่โบราณวัดหนึ่งของจังหวัดราชบุรี

ความเป็นมาของวัดใหญ่โพหัก จากปากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวกันไว้หลายทาง ทางหนึ่งเป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันถึงพญากง พญาพาน ว่าพญาพานได้ยกทัพเพื่อจะไปรบกับพญากงผู้เป็นบิดา ผ่านมาบริเวณบ้านโพหักนี้ เห็นว่ามีทำเลที่เหมาะสม จึงได้หยุดพักไพร่พล เหล่าไพร่พลที่มาในกองทัพได้เอาศาสตราวุธที่นำมาด้วยไปพิงไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หักลงอันเป็นอาเพศบอกเหตุว่า พญาพานจะกระทำปิตุฆาตฆ่าบิดาของตน ตำบลแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ตำบลโพหัก”

อีกทางหนึ่งเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้มาหยุดพักพล ณ ตำบลนี้ ทหารพม่าได้เอาปืนใหญ่ที่นำมาด้วยไปวางพิงไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ ต้นโพธิ์หักลงมา จึงได้เรียกกันเป็นที่หมายของการพบปะกันบริเวณแห่งนี้ว่า ‘ตำบลโพหัก’

อีกทางหนึ่งเล่าว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ราษฎรจากกรุงศรีอยุธยาอพยพหนีภัยสงคราม โดยมีการใช้เกวียนบรรทุกทรัพย์สมบัติต่างๆ หนีการปล้นสะดมของทหารพม่ามาถึงตำบลหนึ่ง วัวที่ใช้เทียมเกวียนเกิดเมื่อยล้า ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ชาวบ้านจึงได้หยุดแล้วเอาทรัพย์สมบัติที่ขนมากองและแขวนไว้กับ ต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หักลง จึงเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า ‘บ้านโพหัก’ และมีการสร้างวัดขึ้น

ภายในวัดมีมณฑปและพระพุทธรูปเก่าแก่ วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2277 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2493

ในปี พ.ศ.2463 หลวงพ่อแม้นได้รับ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลโพหัก

พ.ศ.2480 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2492 ได้รับพระราชทานยศพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูธรรมสาทิศ

ดูแลพระสงฆ์และทำนุบำรุงวัดใหญ่ โพหักเป็นอย่างดี ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีเมตตาและมีวาจาสิทธิ์ หลวงพ่อแม้นจึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งยังสร้างโรงเรียนประถมศึกษาให้ชาวตำบลโพหัก

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ว่ากันว่ามีชาวบ้านล้วนนำกุลบุตรให้หลวงพ่อแม้น ทำพิธีบวชให้เป็นจำนวนมาก

ด้วยความที่มีจิตใจดี ใครมิมนต์ให้ไป บวชให้ที่ไหน ก็จะขี่ม้าไปบวชให้ทุกที่ ไม่เคยปฏิเสธ อีกทั้งวิทยาคมทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ได้เห็นกัน ยิ่งทำให้เคารพยิ่งขึ้นไป

มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่มีการขุดคลองป่าหลวงไปถึงช่วงหนึ่งแล้วต้องหยุด เพราะขุดต่อไปไม่ได้ หลวงพ่อแม้นบอกกับชาวบ้านว่าให้ทำพิธีขอขมา และเมื่อขุดต่อไป จึงได้พบโครงกระดูกคนโบราณมีความสูงถึง 8 ศอก เพราะเชื่อว่ากล่าวถึงสิ่งใดล้วนเป็นจริงดังว่า

ผู้คนจึงต่างเชื่อว่ามีวาจาสิทธิ์และล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

มรณภาพเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2498 สิริอายุ 65 ปี พรรษา 44

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน