“คนเราบางคน บางทีก็อยากจะเอาบุญ เช่น ผ้ายังสกปรกอยู่…ยังไม่ได้ทำความสะอาด แต่อยากจะย้อมสีซะแล้ว ลองเอาผ้าเช็ดเท้าที่ยังไม่ได้ฟอกไปย้อมสีดูซิ…มันจะสวยไหม” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

“หลวงพ่อเดิม พุทธสโร” พระเกจิชื่อดัง วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ ศึกษาวิชามีดหมอ จากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว จ.นครสวรรค์ ต่อมาสร้างมีดหมอขึ้นมาเอง เนื้อเหล็กที่นำมาใช้ตีเป็นมีด จะมีส่วนผสมประกอบด้วยตะปูสังฆวานร ซึ่งเป็นตะปูในสมัยโบราณที่ใช้ยึดเครื่องไม้ในอุโบสถแทนตะปู ตะปูโลงผีที่สัปเหร่อเผาแล้วเก็บไว้ ฯลฯ

เมื่อช่างทำใบมีดเสร็จแล้ว จะส่งต่อให้ช่างทำด้ามและฝักทำต่อ ส่วนที่เป็นตัวด้าม ถ้าเป็นมีดเล่มใหญ่จะมีด้ามเป็นงา และฝักเป็นไม้คูน ส่วนเล่มเล็กจะมีด้ามเป็นงาและฝักเป็นงา จากนั้นส่งต่อไปให้ช่างทำเงินทำที่รัดปลอกมีดและด้ามมีด เมื่อทุกอย่างเสร็จ จะนำมาประกอบที่วัดหนองโพ โดยหลวงพ่อเดิม นำมีดหมอไปปลุกเสก ปัจจุบัน มีดหมอของแท้ หายากมาก

“หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี พระเกจิที่มีชื่อเสียง ในปี พ.ศ.2495 สร้างพระปิดตา พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง ที่ได้รับความนิยม ท่านสร้างเป็นพิมพ์ที่สอง ต่อจากพระพิมพ์เม็ดบัว คือ ขยายปีกให้ใหญ่ขึ้น ด้านหลังใช้ตะแกรงรองแม่พิมพ์ จึงเป็นที่มาชื่อพิมพ์หลังตะแกรง

พระชุดนี้จัดสร้างขึ้นจำนวน 1,000 องค์เศษๆ และมีจัดทำเป็นชุดพิเศษ อีก 108 องค์ ตามความประสงค์ของหลวงปู่เฮี้ยง โดยจัดสร้างต่อเนื่องกัน มีความแตกต่างกันตรงที่การผสมเนื้อ โดยเนื้อหามวลสารของพระพิมพ์ เป็นการผสมผงพุทธคุณของเกจิอาจารย์ที่โด่งดังต่างๆ มากมาย โดยมีปูนเปลือกหอยเป็นส่วนผสมหลัก ครั้งแรกใช้ปูนร้อยละ 60 ส่วนในชุดพิเศษ ลดน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ 45 เนื้อมีความเหนียวนุ่มมากขึ้น เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่หาได้ยาก

“หลวงพ่อแพ เขมังกโร” พระเกจิชื่อดังแห่งวัดพิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี สร้างและปลุกเสกวัตถุมงคลมากมายหลายชนิด ที่ได้รับความนิยมสูง คือ “พระสมเด็จทองเหลือง หลวงพ่อแพ” จำลองแบบมาจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จโต พรหมรังสี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2494 เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูศรีพรหมโสภิต จัดสร้างเป็นเนื้อทองเหลืองแบบเนื้อขันลงหิน มี 2 พิมพ์คือ พิมพ์ลึกและพิมพ์ตื้น

ลักษณะเป็น พระเครื่องแบบหล่อโบราณ รูปทรงสี่เหลี่ยม ด้านหน้าเป็นรูปจำลององค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานบัว ภายในซุ้มครอบแก้ว มีฐานบัลลังก์รองรับ 2 ชั้น ระหว่างฐานทั้งสองจะมีเส้นฐานแซม พระพักตร์แบบผลมะตูม พระเกตุมาลาเป็นต่อม รัศมีเป็นดอกบัวตูม พระกรรณยาว ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ตัวพุดซ้อนกัน 3 ตัว เรียกว่า ยันต์พุดซ้อน ใต้ยันต์เป็นอักขระขอม 3 ตัว เป็นพระเครื่องอันดับต้นของสิงห์บุรี

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน