วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ตั้งอยู่ที่ ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ สภาพภูมิศาสตร์ของวัด ตั้งอยู่บนเขาภูกุ้มข้าว อุดมไปด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น
ในบริเวณวัดยังมีการตกแต่งด้วยรูปปั้นไดโนเสาร์ไว้ตามมุมต่างๆ อย่างสวยงาม เนื่องจากเมื่อกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากในพื้นที่นี้

ปัจจุบัน พระเทพมงคลวชิรมุนี หรือ หลวงปู่หา สุภโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) สิริอายุ 97 ปี พรรษา 75
เป็นพระเถระสายป่าที่มีอายุและพรรษามากที่สุดรูปหนึ่งในแวดวงสงฆ์ จ.กาฬสินธุ์

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2468 ที่บ้านนาเชือก ปัจจุบันเป็น ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่สิมน้ำวัดสว่างนิวรณ์นาแก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ สังกัดมหานิกาย
จนถึงปี พ.ศ.2490 ญัตติใหม่เป็นนิกายธรรมยุต ที่สิมน้ำวัดบ้านหนองโจด ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์
มุมานะศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ต่อมาชาวบ้านคำคา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นิมนต์มาสร้างวัดป่าสักกะวัน
จนถึงประมาณปี พ.ศ.2510 ทางราชการมีโครงการกั้นลำน้ำปาวทำเขื่อน เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ จึงมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง และอ.สหัสขันธ์ ซึ่งเป็นเขตน้ำท่วมถึงอพยพออกไปยังพื้นที่สูง ซึ่งวัดป่าสักกะวัน ก็อยู่ในเขตน้ำท่วมนั้นด้วย จึงมีการย้ายวัดไปยังสถานที่ทางราชการจัดให้

หลวงปู่หาตัดสินใจเลือกภูกุ้มข้าว สถานที่ที่ตั้งวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ในปัจจุบันสร้างวัดขึ้นใหม่ นับแต่นั้นก็พัฒนาวัดสักกะวันแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง
เป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติดี วัดสักกะวันจึงมีชื่อเสียงขจรไกล ทำให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบสักการะท่านมิได้ขาด

วัดสักกะวัน ยังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกประการหนึ่ง คือ มีการขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์อายุกว่าร้อยล้านปี ในบริเวณเขตวัด
ในปี พ.ศ.2537 คณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณี เริ่มเข้าไปขุดค้นอย่างเป็นระบบ เมื่อทางราชการเข้ามาขุดค้น ปรากฏว่าพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ซอโรพอดพันธุ์กินพืชและไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ 750 ชิ้น ไม่ต่ำกว่า 7 ตัว อายุต่ำกว่า 130 ล้านปี มีความสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย

นักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานว่าในสมัยดึกดำบรรพ์บริเวณภูกุ้มข้าว เป็นธารน้ำแข็งโบราณที่มีเหล่าไดโนเสาร์มาดื่มกินน้ำ แต่เกิดภัยพิบัติเฉียบพลันขึ้นทำให้ไดโนเสาร์ล้มตายบริเวณนี้จำนวนมาก

ต่อมาจัดสร้างศูนย์ศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ ภูกุ้มข้าว และจัดตั้งโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับพระราชทานทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูกุ้มข้าวติดกับวัดสักกะวัน

นับว่าเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ และเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวไดโนเสาร์แบบครบวงจรทั้งแสง สี เสียง สร้างความตระการตาต่อผู้เข้าชมโดยการ จัดแสดงแบ่งเป็นโซน อาทิ 1.การกำเนิดโลกและจักรวาล 2.กำเนิดสิ่งมีชีวิต 3.มหายุค พาลิโอโซอิก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ 4.1 มหายุคมีโอโซอิก มหายุค แห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ 4.2 ไดโนเสาร์ไทย 5.วิถีชีวิตไดโนเสาร์ไทย 6.คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ 7.มหายุคซีโนโลอิก มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8.เรื่องราวของมนุษย์ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์สิรินธรแห่งนี้ เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. มีค่าเข้าชม
ผู้ที่มาเยือนวัดสักกะวัน หลังเข้าสักการะหลวงปู่หา ไม่ควรพลาดแวะเข้าชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร อยู่ใกล้กับวัด เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์
การเดินทางค่อนข้างสะดวก ถนนลาดยางตลอดสาย อยู่ห่างจากตัว จ.กาฬสินธุ์ ประมาณ 30 ก.ม. เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน