“ราม วัชรประดิษฐ์”

หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้าเป็นที่เคารพศรัทธาและรำลึกถึงจวบจนปัจจุบัน

พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เป็นชาวจังหวัดชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีพ.ศ.2396 แถบวัดปากคลองมะขามเฒ่า

พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์ทองล่าง) ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง โดยมี หลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จาก หลวงพ่อเชย ผู้ทรงคุณทั้งด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลังนัก พร้อมกับ พระอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และ หลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่าง เช่นกัน

จากนั้นเริ่มออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาที่สงบฝึกฝนวิทยาการต่างๆ ที่ได้เรียนมา พร้อมศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูป ท่านได้เรียนกรรมฐานที่สำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) กับ พระสังวราเมฆ พระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น, เรียนด้าน รสายนเวท อันได้แก่ การเล่นแร่แปรธาตุและโลหะเมฆสิทธิ์ กับ หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม โดยพักอยู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน หลวงปู่ศุขมรณภาพเมื่อปีพ.ศ.2467 ด้วยโรคชรา

หลวงปู่ศุข เริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับ เหรียญไปบูชาต่างเกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา

วัตถุมงคลของท่านส่วนใหญ่จะเป็นพระสี่เหลี่ยมรัศมีหรือข้างอุ โดยใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้างหาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น โดยมีมากมายหลายประเภท ทั้งพระปิดตา พระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง อย่างตะกรุด ประคำ ฯลฯ ซึ่งล้วนได้รับความนิยมและแสวงหาสืบมาถึงปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นองค์สมบูรณ์แบบสนนราคาจะค่อนข้างสูงเอาการเลยทีเดียว

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูงสุด ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่ง ในห้า “เหรียญยอดนิยม”ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่กลม ห่วงเชื่อม พิมพ์ด้านหน้ามีเพียงพิมพ์เดียว ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุขนั่งเต็มองค์ แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคดอยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุปีที่สร้าง คือ “๒๔๖๖”

ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยว่า “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว “อุขึ้น อุลง” พิมพ์ด้านหลัง

โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 3 เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางทำเป็น “ยันต์ 3” หมายถึงพระไตรสรณคมณ์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ “นะ มะ อะ อุ” ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ คือ “นะ โม พุท ธา ยะ”

ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” โดยแบ่งออกเป็น 4 พิมพ์ ซึ่งอาจเป็นเพราะสมัยก่อนการชุบแม่พิมพ์ยังไม่ แข็งแรงและเหนียวพอ ยิ่งแม่พิมพ์ด้านหลังที่ต้องเป็นตัวตอกย้ำ จึงรับน้ำหนักมากกว่าด้านหน้า ทำให้เกิดการชำรุดและเสียหายก่อน จนต้องแกะแม่พิมพ์ด้านหลังกันขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วย พิมพ์หลังไม่มี “อุ”(พิมพ์นิยม) หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์, พิมพ์หลังมี “อุ (เล็ก)?, พิมพ์หลังมี “อุ (ใหญ่)”และ พิมพ์หลัง “อุ และมีดาว”ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน