กรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล กรณีของ นายชื่นชอบ คงอุดม ยื่นใบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ อาจสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงการเมือง

เพราะ 2 คนนี้ถือว่า “รุ่นใหม่”

ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีรากฐานมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 ถือได้ว่าอยู่ในฐานะเป็น “สถาบัน” ในทางการเมือง

การออกของนักการเมือง “รุ่นใหม่” จึงค่อนข้างแปลก

เมื่อนำเอา 2 คนนี้ไปวางเรียงเคียงกับข่าวจาก “ซุ้มชลบุรี” และข่าวจากสุโขทัย ข่าวจากกลุ่มบ้านริมน้ำ หรือแม้กระทั่งข่าวจากสระบุรี

ข่าวจากแต่ละ “ซุ้ม” จึงไม่น่าตื่นตา ตื่นใจนัก

อาจมีการโหมประโคมอย่างต่อเนื่องถึงการจะอำลาจาก “กลุ่มวังบัวบาน” ของนักการเมืองจังหวัดสุโขทัย อาจมีการโหมประโคมสายสัมพันธ์บ้านริมน้ำกับบางคนในทำเนียบรัฐบาล

เหมือนกับความอึกทึกของ “ทีมสระบุรี”

แต่เมื่อลงไปรายละเอียด เห็นหน้าเห็นตา แวดวงการเมืองก็แทบไม่บังเกิดความแปลกใจอะไรเลย เพราะแต่ละชื่อที่อยู่ในสารบบ

ไม่ใหม่เหมือน นายสกลธี ภัททิยกุล ไม่ใหม่เหมือน นายชื่นชอบ คงอุดม

ตรงกันข้าม ไม่ว่าซุ้มชลบุรี ไม่ว่าซุ้มสุโขทัย ไม่ว่าซุ้มบ้านริมน้ำจากฉะเชิงเทรา ไม่ว่าซุ้มสระบุรี อาจหน้าตาจิ้มลิ้มสำหรับคสช.

แต่ก็ถือได้ว่าเป็น “ปลาร้า” ค้างปีมาจาก “ที่อื่น”

บรรดาแต่ละ “ซุ้ม” อาจเคยเข้าสัมพันธ์ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้สัมพันธ์ในเดือนกรกฎาคม 2554

ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละคน “โชก” มาแล้วทั้งสิ้น

บางคนก็เริ่มจากพรรคกิจสังคม บางคนก็เริ่มจากพรรคชาติไทย ระเหเร่ร่อนในทางการเมืองไปแล้วหลายพรรค หลายกลุ่ม

สร้างบทบาทและความอื้อฉาวสารพัด

การที่เข้าไปอยู่ในร่มเงาของ “คสช.” จึงเป็นที่เข้าใจและอ่านออกว่ามีเป้าหมายอะไรในทางการเมืองไม่ได้สลับซับซ้อน

อ่านง่าย อ่านแตก เพียงพลิกไปในแต่ละหน้า

เมื่อนำเอากระบวนท่าในการดูดของ “พรรคคสช.” ที่เปิดทำเนียบรัฐบาลเป็นกองบัญชาการใหญ่ก็ค่อนข้างแปลกใจว่าอะไรคือเหตุปัจจัย

หรือว่าใจร้อนต่อการวางท่อแห่ง “อำนาจ”

จึงแทบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม ขอให้ได้มาอยู่ในซุ้มของ “พรรคคสช.” ผ่านการปวารณาว่าจะรับใช้สุดจิตสุดใจก็อ้าแขนต้อนรับ

ทั้งๆ ที่แต่ละรายก็ส่งเสียงดังตลอด 2 เส้นทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน