ไม่ว่าจะมองผ่านการเปรียบเทียบกับ “ไดโว่” ไม่ว่าจะมองผ่านการเปรียบเทียบกับบทบาทของ “รถดูดส้วม” ล้วนยืนยันว่า กระบวนการ “ดูด” ไม่ได้เป็นเรื่องดี

เพราะเมื่อเอ่ยถึง “ไดโว่” ก็นึกถึงคราบ “สกปรก”

ยิ่งเป็น “รถดูดส้วม” แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เพราะสัญลักษณ์ของรถดูดส้วมก็ทาด้วยสีเหลือง และสิ่งที่เป็นเป้าหมายก็เป็น “สีเหลือง”

เป็นสิ่งปฏิกูลที่จำเป็นต้อง “ทำลาย”

การนำเอาปฏิมาแห่งไดโว่ ปฏิมาแห่งรถดูดส้วม ไปวางเรียงเคียงกับบทบาทและความหมายของการดูดในทางการเมืองจึงเป็นเรื่องเสียหาย

มากกว่าจะลอยหน้าลอยตาแสดงความชื่นชม

กล่าวในทางการเมือง ปฏิบัติการ “ดูด” ในทางการเมือง ไม่ว่าจะมองระดับชาติ ไม่ว่าจะมองระดับพรรคการเมืองเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย 2 ด้านที่สัมพันธ์กัน

สัมพันธ์ในเรื่อง “อำนาจ” สัมพันธ์ในเรื่อง “ทุน”

หากมองจากประวัติศาสตร์ที่กระบวนการดูดสะท้อนผ่านบทบาทพรรคเสรีมนังศิลา มองผ่านพรรคชาติสังคม มองผ่านพรรคสหประชาไทย มองผ่านพรรคสามัคคีธรรม

ล้วนเป็นการรวมศูนย์กำลังอันมาจาก “อำนาจ”

อำนาจอันมาจาก จอมพลแปลก พิบูลสงคราม อำนาจอันมาจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อำนาจอันมาจาก จอมพลถนอม กิตติขจร อำนาจอันมาจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เป้าหมาย คือ สืบทอด “อำนาจ” ทางการเมือง

ไม่ว่าผู้มีอำนาจคนใดต้องการสืบทอดอำนาจที่มีอยู่ ก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อต่อเชื้อแห่งอำนาจ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุ 40,000 ล้านบาทนั้นยังน้อย

เพราะในความเป็นจริง อำนาจ “แฝง” ที่แสดงออกผ่านกระบวนการ “ประชารัฐ” และกระบวนการ “ไทยนิยม” นั้นมากมายมหาศาล

มหาศาลในระดับ “ล้านล้านบาท”

น่าเศร้าที่เงินจำนวนมหาศาลนี้ถูกทุ่มไปเพื่อรองรับกับอำนาจโดยมีนักการเมืองอันมาจากความสกปรกเป็นฐานรองรับ

ความเป็นจริงนี้พิสูจน์มาแล้วโดยประวัติศาสตร์

ภายในกระบวนการของ “การดูด” ฝ่ายปฏิบัติการอาจคิดว่าเป็นครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตยไทยนิยม ฝ่ายที่เป็นเหยื่ออาจมองเห็นด้านที่รุ่งโรจน์

แต่ภายในตัว “กระบวนการ” ก็มีลักษณะ “ทำลาย”

เหมือนกับที่เคยทำลายพรรคเสรีมนังคศิลา เหมือนกับที่เคยทำลายพรรคชาติสังคม เหมือนกับที่เคยทำลายพรรคสหประชาไทย เหมือนกับที่เคยทำลายพรรคสามัคคีธรรม

บทเรียนในทางประวัติศาสตร์มีค่า มหาศาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน