ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้การการันตีว่า การดูดเป็น “ครรลอง” ของประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งมีมานมนานกาเลแล้ว

ทั้งๆ ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพิ่งพูด

“เห็นหรือไม่ ใครไปดูดใคร ไม่มีเลย แต่ทำไมคนอยากจะย้าบ้านเพราะบ้านอยู่แล้วไม่มีความสุขหรือไม่”

เหมือนกับเป็นการให้เหตุผลจากด้านของคนที่ “ถูกดูด”

กระนั้น ความรู้สึกต่อกระบวนการ “ดูด” ในทางการเมืองก็ไม่นิ่ง ตรงกันข้าม กลับมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคประชาธิปัตย์

หรือว่า “เหตุผล” เหล่านั้นไม่มี “น้ำหนัก” เพียงพอ

ทำไมคนจึงรู้สึกรังเกียจต่อเรื่องราวอันเกี่ยวกับ “การดูด” ไม่ว่าคนที่พยายามไปดู ไม่ว่าคนที่ถูกดูดออกจากบ้านหรือพรรคการเมืองของตนเอง

เรื่องนี้อย่าไปโทษ “สังคม” เลย

เพราะเรื่องที่ยักย้าย เปลี่ยนพรรคในทางการเมืองนั้นถูกมองว่าเป็นการทรยศ เป็นการหักหลังเพื่อที่ร่วมกันอยู่ในพรรค

ลองไปอ่าน “สามก๊ก” ก็จะเข้าใจ

ยิ่งบางคนที่ย้ายออกจากสังกัดเดิม พรรคการเมืองเดิมแล้วสาดน้ำร้อน น้ำเย็น กระหน่ำเข้าใส่พรรคอันเคยสังกัดคนยิ่งไม่ชอบ

บางคนยังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เนรคุณ” ได้เลย

ยิ่งกว่านั้น หากลองนำเอารายชื่อของบรรดาเป้าหมายที่จะถูก “ดูด” เข้าไปร่วมกับขบวนการสนับสนุนคสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจ

ชาวบ้านรู้เช่น เห็นชาติมาตลอดว่าเป็นคนอย่างไร

นักการเมืองเหล่านี้ไม่เคยมีความภักดีกับพรรคการเมืองใดหรอก พวกเขาพร้อมที่จะไหลไปพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดก็ได้หากได้ประโยชน์

ที่เห็นชัดก็จากกรณีของรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อปี 2534 นั่นแหละ

ตัวละครเหล่านี้ไม่ก็อยู่พรรคสามัคคีธรรม ไม่ก็อยู่พรรคชาติไทย ไม่ก็อยู่พรรคกิจสังคม ไม่ก็อยู่พรรคชาติพัฒนา

อย่างที่เรียกหลังเดือนพฤษภาคม 2535 ว่า “พรรคมาร”

จากสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 คนเหล่านี้ก็ออกมาแสดงความเป็นนักการเมืองเขี้ยวลากดินอีกคำรบหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2561

ครานี้ไม่ใช่การหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร

หากแต่เป็นการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และประกาศจะสร้างการเมืองใหม่ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน