หากไล่เรียงผลการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เจาะเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะเข้าใจว่าเหตุใดครม.สัญจรที่บุรีรัมย์จนสั่นสะเทือนพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง

สัมผัสได้จากปฏิกิริยา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

ประสานเข้ากับปฏิกิริยาอันมาจาก นายอิสสระ สมชัย และ นายศุภชัย ศรีหล้า ซึ่งมีรากฐานทางการเมืองอยู่ที่อุบลราชธานี

ไกลจากบุรีรัมย์พอสมควร แต่ก็ไม่ไกลมากนัก

สถานการณ์ครม.สัญจรที่บุรีรัมย์จึงส่งผลสะเทือนให้กับสถานะและการดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างสูง

จึงย่อมเกิดความหวั่นไหว

จากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ปรากฏว่า ที่ยึดครองจำนวนส.ส.สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพรรคเพื่อไทย

คือ 104 จากทั้งหมด 126 เขต

ที่เหลือนอกนั้นเป็นของพรรคภูมิใจไทย 13 เป็นพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 4 เป็นพรรคประชาธิปัตย์ 4 เป็นพรรคชาติไทยพัฒนา 1

การเดินทางไปบุรีรัมย์ของรัฐบาลจึงเป็นหมัดหนัก

แต่ถามว่าจะสะเทือนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ยังน่าสงสัย กระนั้น ตามความเป็นจริงน่าจะสะเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินมากกว่า

ที่ตั้งเป้าว่าจะได้ 20 อาจไม่เป็นไปตามเป้า

หากถือเอาผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ต่อเนื่องมายังผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นบรรทัดฐาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นฐานของพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย

สภาพการณ์เช่นนี้ก็ดำรงอยู่เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ยึดครองพื้นที่ภาคใต้โดยแทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทยเลย

เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ใน 2 พื้นที่ก็เป็นเช่นเดียวกัน

นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยต้องการขยายการยึดครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการขยายการยึดครองในภาคใต้ให้มากขึ้น

นี่ย่อมส่งผลกระทบต่อกันและกัน

จากนี้จึงมีความจำเป็นต้องจับตาดูบทบาทของพรรคเพื่อไทยในภาคใต้ และบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพราะ 2 พรรคนี้ย่อมต้องวางแผนเพื่อขยายปริมาณ

เป็นการขยายในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการรักษาแชมป์ในภาคใต้ เป็นการขยายในขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาแชมป์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การเลือกตั้งในปี 2562 จึงมากด้วยความเข้มข้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน