วิเคราะห์การเมือง

แล้วข่าวการเปิดทางให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้ามาเป็น “หัวขบวน” ในการบริหารจัดการพรรคเพื่อไทยก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ปะทุใน “สถานการณ์” ที่มีการรุกไล่ “แกนนำ” คนสำคัญ

ไล่เรียงมาตั้งแต่การรุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ “ถอดถอน” จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินหน้าในเรื่องประเมิน “ความเสียหาย” จากโครงการรับจำนำข้าว

ตัดเส้นทางเคลื่อนไหวในทางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

จากนั้น ก็รุกไล่ไปยัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สาระผล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ตามมาด้วย นายประชา ประสพดี ตามมาด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ทั้งนี้แทบไม่ต้องกล่าวถึงการจำกัดกรอบและขอบเขตของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรวมถึง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

เป้าหมายเพื่อ “เคลียร์” พื้นที่ทาง “การเมือง”

จุดเด่นของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สอดรับกับสภาพและสถานการณ์ทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยกำลังประสบอย่างทุลักทุเล

โดยเฉพาะจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นจุดเด่นที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำคนสำคัญและมากด้วยบทบาทในคสช.

ภาพของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดูดีในสายตาของคสช.มากกว่าคนอื่น

เมื่อภาพของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดูดีในสายตาของคสช.ก็เท่ากับจะทำให้สภาวะตึงเครียดระหว่างคสช.กับพรรคเพื่อไทยผ่อนคลายลงได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง นั่นก็คือ ไม่ต้องปะทะและหักล้างกันเป็นประจำ

ทำให้การเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งปลายปี 2560 มีความปลอดโปร่ง

ความจริง กรณีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก่อนสถานการณ์เดือนธันวาคม 2551

นั่นก็คือ การแยกตัวออกมาหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ

จะแตกต่างก็เพียงแต่ว่ากลุ่มของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แยกตัวออกไปเพื่อร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคเพื่อแผ่นดิน ในการจัดตั้งรัฐบาล

และต่อมาก็เกิดเป็น “พรรคภูมิใจไทย”

แต่กรณีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดำเนินไปในแบบ “เทกโอเวอร์” พรรคเพื่อไทยมากกว่าที่จะแยกตัวออกไปเหมือนกรณีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

นั่นก็ขึ้นอยู่กับภายในพรรคเพื่อไทยเห็นชอบด้วยหรือไม่กับ “ข้อเสนอ”

ก่อนการเลือกตั้งปลายปี 2560 จะเกิดการเคลื่อนไหวทั้งภายในพรรคเพื่อไทยและภายในพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสนอระลอกแล้วระลอกเล่าที่ออกมาจากแต่ละองคาพยพซึ่งสัมพันธ์กับ “คสช.” ชี้ให้เห็นทิศทางและความจำเป็นที่จะต้องจัดวาง “ภูมิทัศน์” ใหม่ในทางการเมือง

เป็นการเมืองเพื่อขานรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน